ตุงไส้หมู ศิลปะการตัดกระดาษของชาวล้านนา
ความเป็นมา
ตุงไส้หมู มีลักษณะเป็นพวงประดิษฐ์ รูปร่างคล้ายจอมแหหรือปรางค์ ทำจากกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ
อย่างน้อยแผ่นละสี มาวางซ้อนกันแล้วพับทแยงมุมหลาย ๆ ทบ ใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงส่วนปลายสุด เมื่อคลี่ออกและจับหงายขึ้น จะเห็นเป็นพวงกระดาษที่สวยงาม
การนำตุงไส้หมูไปใช้ ทำได้โดยนำไปผูกติดกับคันตุงยาวประมาณ ๑ เมตร ใช้ถือร่วมขบวนแห่ครัวตานเข้าวัด
ใช้ประดับครัวตาน หรือปักเจดีย์ทรายที่วัดในเทศกาลสงกรานต์ แต่ในบางท้องที่จะใช้ตกแต่งปราสาทศพเพื่อความสวยงาม โดยประดิษฐ์เป็นพวงใหญ่ๆ ใช้กระดาษว่าวสีขาวและสีดำ หรือสีขาวและสีม่วง
ศิลปะการตัดกระดาษให้เป็น “ตุงไส้หมู” เป็นองค์ความรู้ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งชาวล้านนาจะใช้ในพิธีทางศาสนา หรือกิจกรรมทางประเพณีของชาวล้านนา โดยเฉพาะชนกลุ่มไท ได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ไทใหญ่ เป็นต้น
นั่นคือ ประเพณีปี๋ใหม่ (สงกรานต์) ในพิธีกรรม หรือประเพณีดังกล่าว ชาวล้านนาจะจัดเตรียมข้าวของต่างๆ สำหรับใช้ในพิธีใน “วันแต่งดา” คือวันสุกดิบ หรือวันเตรียมข้าวของ ซึ่งจะจัดทำก่อนหน้างานประมาณ ๑ วัน สล่าตัดตุงไส้หมู (สล่า แปลว่า ช่าง) หรือผู้ที่สามารถตัดตุงไส้หมูได้ ก็จะนำกระดาษสีต่างๆ มาตัดให้เป็นตุงไส้หมู แล้วนำไปผูกกับไม้ไผ่ซึ่งเหลาเป็นแท่งกลม ยาวประมาณ ๑ เมตร หรือนำไปผูกกับก้าน “ต้นเขือง” (ต้นเต่าร้าง) เพื่อเตรียมไปปักยังเจดีย์ทรายภายในลานวัดในวันพญาวัน หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี
ศิลปะการตัดกระดาษให้เป็นตุงไส้หมู ผู้ศึกษาได้รับการถ่ายทอด มาจากสล่าชาวล้านนา เช่น พ่อหนานเมืองคำ ทันใจ อายุ ๗๓ ปี บ้านเลขที่ ๔๖ บ้านดอนน้อย หมู่ที่ ๙ ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
ประวัติความเป็นมาของ ธงสากล หรือ ตุง ของชาวล้านนา
ตั้งแต่ สมัยโบราณมนุษย์ต้องการสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายประจำตัว ครอบครัว กลุ่ม ทั้งนี้เพื่อต้องการแบ่ง แยกให้เห็นถึงความแตกต่างเฉพาะ ของแต่ละคนหรือกลุ่มโดยใช้เป็นสัญลักษณ์
ความเป็นมา “ธง” ตาม คติสากลอาจเชื่อมโยงไปกับหลักฐานอันเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏในภาพ เขียน การแกะสลัก รูปปั้น ศิลาจารึก และคัมภีร์ เป็นระยะเวลายาวนานนับพันปีตั้งแต่สมัยอียิปต์ และกรีกโบราณ “ธง” ในทวีปเอเชียพบว่าแหล่งอารยะธรรมอันยิ่งใหญ่ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ธิเบต และเนปาล ได้มีการใช้ธงมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลแล้ว
ส่วนความเป็นมาของตุงล้านนา “ตุง” หรือ “ จ้อ” เป็นภาษาถิ่นทางภาคเหนือที่ชาวล้านนาเรียกขานกันทั่วไป ซึ่งหมายถึง “ธง” ในภาษาภาคกลาง มีลักษณะตรงกับภาษาบาลีว่า “ปฎากะ” หรือ “ ธงปฎาก” “ ธงตะขาบ” ซึ่งเมื่อครั้งสมัยหริภุญชัยในช่วงศตวรรษที่17 พบว่าชาวหริภุญชัย เคยมีโรคอหิวาตกโรคระบาด ผู้คนต่างพากันหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองสะเทิง เมื่ออหิวาตกโรคหายไปก็พากันกลับมาบ้านเมืองเดิม คาดว่าคงได้มีการรับวัฒนธรรมการถวายธงหรือตุงที่มีเสาหงส์มาจากชาวมอญมาด้วย
ซึ่งเราพบว่าหงส์ล้านนานี้เป็นสิ่งสำคัญมากของชาวรามัญนั้น ได้ปรากฏว่าเป็นส่วนประกอบอยู่กับตุงในล้านนาคือ “ตุงกระด้าง” ซึ่งมีลักษณะรูปทรงเหมือนกัน และมีลักษณะของธงตะขาบของชาวรามัญก็คล้ายคลึงกับ “ตุงไชย” ของล้านนาด้วยเช่นกัน
ราวปี พ.ศ.1839 พระพุทธศาสนาได้เข้ามาในดินแดนล้านนา เกิดมีการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิม คือ การนับถือผีบวกกับคติความเชื่อทางศาสนาเข้าด้วยกัน จึงเกิดวิวัฒนาการที่เกี่ยวกับคติความเชื่อต่างๆผสมผสานปนเปกันมากมาย อีกทั้งด้านความสัมพันธ์กันระหว่างดินแดนต่างๆ ได้ส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อกัน จึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า ประเพณีถวายทานตุงของชาวล้านนานับได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่ใด และได้รับอิทธิพลความเชื่อและรูปแบบต่างๆมาจากแหล่งใดบ้าง ได้เพียงแต่สันนิษฐานในบางกรณีว่า วิวัฒนาการเริ่มแรกเดิมทีนั้นก่อนที่จะมีการรวบรวมดินแดนเป็นอาณาจักรล้านนา พระยามังรายมหาราชทรงเคยปกครองอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำกกมาก่อน ซึ่งได้แก่ เมืองเชียงแสน เชียงราย และดอยตุง
เราเชื่อว่าความเป็นมาของตุงคงมีจุดกำเนิดมาจากดอยตุง ดังปรากฏหลักฐานจากเรื่องราวโบราณสถานที่เกี่ยวกับประวัติพระธาตุดอยตุง ซึ่งกล่าวถึงการสร้างพระธาตุไว้ว่า พระมหากัสสปะเถระได้นำพระบรมสารีลิกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า มาถวายแด่พระเจ้าอรุตราชกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์สิงหนวัติ พระองค์ได้ทรงขอที่ดินจากพญาลาวจก (ราชวงศ์ลวจังคราช) ใน หมู่เขาสามเส้าเป็นที่ก่อสร้างพระมหาสถูปนั้น ทำให้ตุงตะขาบยาวถึงพันวา ปัก ไว้บนยอดดอยปู่เจ้า ถ้าหางตุงปลิวไปเพียงใดกำหนดให้เป็นรากฐานสถูป
ในช่วงเวลาต่อมาคติความเชื่อดังกล่าวจึงกระจัดกระจายทั่วไปในดินแดนล้านนา เนื่องจากชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับ “อนุ จักรวาล” การย่อส่วนความคิดเรื่องจักรวาลระดับจากชนชาติลัวะ ความเชื่อเรื่องผีปู่และย่า หรือผีบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) นี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เห็นได้ชัดว่า แต่เดิมชาวบ้านได้มีโลกทรรศน์ผูกพันอยู่กับผีมาก และเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาในท้องถิ่นภายหลังจึงผสานแนวความคิดเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องของวิญญาณและชีวิตหลังความตาย ด้วยการถวายตุงให้เป็นทานแก่ผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อันจำส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้น ช่วยให้พ้นจากทุกขเวทนาในนรก และในขณะเดียวกันก็ถวายให้กับตนเองด้วย เพื่อหวังอานิสงส์ เกื้อกูล ให้ไปสู่ชีวิตที่ดีในภายภาคหน้า ทำให้ประเพณีการถวายทานตุงมีบทบาทมากขึ้นในชุมชนเป็นที่นิยม และยึดถือศรัทธาสืบกันมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
โดย สรุปเรื่องราวของตุงในล้านนา ตามหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลาน หรือตำนานต่างๆเห็นได้ชัดว่าประเพณีการสร้างตุงนั้น มีมาแต่โบราณกาลแล้วดังปรากฏในตำนานที่สำคัญๆ และได้กล่าวถึงตุงชัดเจนมากที่สุด คือตำนานพระธาตุดอยตุงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
“ตุง” ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่นไม้ โลหะ กระดาษ ผ้า ใบลานพลาสติก เป็นต้นมีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสา หรือผูกติดกับปลายไม้ เป็นแผ่นยาวลงมา
“ตุง” มีหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีรูปแบบ ขนาด และรายละเอียดวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนความนิยมของท้องถิ่นและการใช้งาน เช่น งานเทศกาลขึ้นปีใหม่ งานประเพณีปีใหม่เมือง(วันสงกรานต์) งานประเพณียี่เป็ง(ลอยกระทง) งานปอยหลวง งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง งานสืบชะตา งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานบ่ายศรีสู่ขวัญ งานบุญ งานแห่พระพุทธรูป งานทอดกฐินผ้าป่า งานศพ ความงามของตุงอยู่ที่ลวดลาย การประดิษฐ์อย่างประณีต การตัดลวดลาย และสีสันที่แต่งแต้ม ตุง เป็นเครื่องสักการะมี 4 ประเภท คือ
1) ตุงเดี่ยวหรือตุงค่าคิง สำหรับบูชาแทนตนเอง
2) ตุงไส้หมู สำหรับบูชาพระธาตุ พระเจดีย์
3) ตุงไจยหรือธงไชย สำหรับบูชาพระพุทธรูป
4) ช่อหรือธงชัย สำหรับปักเครื่องบูชา
สอนตัดตุง ไส้หมู(ชาวล้านนา)
อุปกรณ์
กระดาษว่าว
กรรไกร
ไม้
เข็ม ด้าย
กระดาษ
วิธีทำ
นำกระดาษว่าวมาพับสามเหลี่ยมลงมา จากมุมด้านใดด้านหนึ่ง (ตัดปลายที่เหลือทิ้ง)
จากนั้นพับจากอีกด้าน ซ้อนทับอีกชั้น ให้เป็นรูปสามเหลี่ยม
แล้วพับจากด้านเดิม ขึ้นไปซ้อนอีกชั้น
ตัดจากปลายด้านล่าง ขึ้นด้านบน (เหลือขอบด้านล่างไว้)
เข้าชม : 32120
|