วันปิยมหาราช
วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ภาษาอังกฤษคือ Chulalongkorn Day เป็นวันสำคัญ และวันหยุดราชการวันหนึ่งของไทย โดยวันนี้เป็นวันที่คนไทยรู้จักกันดีคือ “วันเลิกทาส” ตั้งแต่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 และห้ามมีการซื้อขายทาสอีกในประเทศไทย
ประวัติของวันปิยมหาราช
วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยหลายด้าน และสิ่งที่โดดเด่นคือ การประกาศเลิกทาส เป็นการหยุดวงจรการเป็นทาส เพราะเมื่อสมัยก่อนหากพ่อแม่เป็นทาส ลูกที่เกิดมาก็ต้องเป็นทาสต่อไปเรื่อยๆ ทางราชการจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นหนึ่งในวันระลึกถึงความสำคัญของเหตุการณ์ในชาติ โดยเรียกว่า “วันปิยมหาราช” พร้อมทั้งกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการ
ความสำคัญ
วันปิยมหาราชเป็นวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในทุกๆ ปีหน่วยงานราชการจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ ที่พระบรมรูปทรงม้าอย่างพร้อมเพรียง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การเลิกไพร่ เลิกทาส
แต่ดั้งเดิมนั้นประเทศไทยของเรา มีพลเมืองที่เป็นชนชั้นทาสมากกว่า 30% ของพลเมืองทั้งประเทศ เนื่องจากการได้รับวรรณะทาสนั้นจะถูกสืบจากสายเลือด หากพ่อแม่เป็นทาส ลูกก็จะเป็นทาสด้วย โดยทาสนั้นแบ่งออกเป็น 7 ประเภทใหญ่ๆ
- ทาสสินไถ่: เกิดจากการขายตัวเป็นทาส ทาสประเภทนี้มักยากจน
- ทาสในเรือนเบี้ย: เกิดจากการที่แม่เป็นทาส พ่อเป็นนายทาส
- ทาสมรดก: เกิดจากการส่งต่อมรดกของนายทาสที่เสียชีวิตลง ส่งให้นายทาสคนต่อไป
- ทาสท่านให้: ทานที่ได้รับมาจากผู้อื่น
- ทาสทัณฑ์โทษ: กรณีที่บุคคลนั้นถูกลงโทษ แต่ไม่สามารถหาเงินมาชดใช้ได้หมด ถ้าหากมีนายทาสมาช่วยเหลือ ถือว่าบุคคลนั้นกลายเป็นทาสของนายทาสคนนั้น
- ทาสที่ช่วยไว้จากความอดอยาก: คือการขายตนเองให้นายทาส เพื่อหลีกหนีจากความอดอยากที่เผชิญอยู่
- ทาสเชลย: เกิดจากการที่ประเทศหรือพลเมืองนั้นๆ แพ้สงคราม จึงถูกผู้ชนะสงครามนำคนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้
การจะหลุดออกจากการเป็นทาสนั้นมี 6 วิธี
- การหาเงินมาไถ่ถอนตนเอง
- การบวชที่ต้องได้รับการยินยอมจากนายทาส
- การหลบหนีจากการเป็นเชลยในสงคราม
- การแต่งงานกับชนชั้นสูงกว่า
- การแจ้งความนายจ้างว่าเป็นกบฏ และตรวจสอบว่าเป็นจริง
- การประกาศจากรัชกาลที่ 5 ให้มีการเลิกทาส
สมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ 5)
สมเด็จพระปิยมหาราช หรือพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และสมเด็จพระเทพศิริน-ทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 พระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์” เมื่อพระชนม์ 9 พรรษาได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ต่อมาอีก 4 ปี ได้เลื่อนเป็น “กรมขุนพินิตประชานาถ” บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 มีประราชกรณียกิจสำคัญมากมายคือ
การเลิกทาส ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124” (พ.ศ.2448) เลิกเรื่องลูกทาส ในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่เป็นทาสอีกต่อไป การซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด
การปฏิรูประเบียบบริหารราชการ ได้ทรงปรับปรุงหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวมกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเวลานั้นเข้าเป็นกระทรวง กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพอเหมาะสม
การศึกษา ทรงโปรดให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วมีหมายประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้ส่งบุตรหลานเข้า เรียน โรงเรียนภาษาไทยนี้
การศาล ทรงตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมศาลต่าง ๆ ให้มาขึ้นอยู่ในกระทรวงเดียวกัน
การคมนาคม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง ถนนที่ทรงสร้างใหม่ คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น
การสุขาภิบาล ได้ทรงตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดูแลจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่ง เช่น ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลโรคจิต และโรงเลี้ยงเด็ก
การสงครามและการเสียดินแดน ท่านทรวงควบคุมการเสียดินแดนของไทย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็พยายามทำให้ได้ประโยชน์จากการเสียดินแดนให้มากที่สุด
การเสด็จประพาส ระหว่างที่ยังมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายที่ เพื่อดูแบบอย่างการปกครอง และนำมาแก้ไขดัดแปลงใช้ในประเทศของเราบ้าง
การศาสนา ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกโดยแท้จริงในด้านพระพุทธศาสนา
การวรรณคดี ทรงเป็นนักประพันธ์ ซึ่งมีความชำนาญทั้งทางร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น ไกลบ้าน ลิลิตนิทราชาคริต เงาะป่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นต้น
พระบรมรูปทรงม้า
ตั้งอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ โดยบริษัทซุซ เซอรเฟรส ฟองเดอร์ แล้วเสร็จเมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2451 รูปมีขนาดโตเท่าพระองค์จริง ประทำอยู่บนหลังม้าพระที่นั่ง หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ เป็นรูปม้ายืน สูง 6 เมตร กว้าง 2.5 เมตร และยาว 5 เมตร
ในปัจจุบันมีประชาชนมากมายเข้าไปสักการบูชา ซึ่งดอกไม้ที่ประชาชนนิยมไปถวายคือดอกกุหลาบสีชมพู เนื่องจากเป็นสีเดียวกันวันพระราชสมภพของพระองค์ (วันอังคาร) ที่งดงาม และหนามแหลมคมเปรียบเสมือนอำนาจของพระองค์ เชื่อว่าหากบูชาแล้วจะทำให้ผู้บูชามีอำนาจมากขึ้น
คาถาสักการะบูชา ร.5
พระคาถาบูชาพระพุทธเจ้าหลวง แบบย่อ
“พระสะยามะมินโท วะโร อิติ พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง สะหัสสะกายัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ” หรือแบบเต็ม “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ พระสะยามะมินโท วะโร อิติ พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง สะหัสสะกายัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ มาสีสะมานัง”
…
พระคาถาอธิษฐานขอพร แต่ห้ามบนบาน
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) พระสยามะมินโท วะโร อัตตัง พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ ปิโย เทวามนุสสานัง”
จงเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ปิโย นาคะสัมปันนานัง จงบังเกิดความรักที่มีอนุภาคสูงสุด ปิโย พรหมานะมุตตะโม จงบังเกิดความรักกับผู้มีอำนาจท่านท้าวมหาพรหม เจ้าจอม อินทรา นาค ครุฑ และคนธรรพ์ ปินันทิยัง นะมามินัง ความรัก ความยินดี ความเมตตา จงบังเกิดในเรือนร่างข้าพเจ้าทุกส่วนแม้ปลายเส้นผม
“ปิยะ มะมะ นะโม พุทธายะ (5 จบ) ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้า (นาย นาง นางสาว) ชื่อ…นามสกุล… ต้องการให้พระองค์ท่านช่วยเรื่อง… อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะ นาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ ปิยะ มะมะ นะโม พุทธายะ (3 จบ) พระพุทธเจ้าขอรับด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะขอให้บุญบารมีขององค์เสด็จพ่อ ร.5 สูงยิ่งๆ ขึ้น และแกร่งกล้ายิ่งๆ ขึ้น”
(เพิ่มเติม: คาถาบูชา ร.5 วันปิยมหาราช)
กิจกรรมในวันปิยมหาราช
ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่างๆ จะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า พร้อมด้วยการจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในวันปิยมหาราชของทุกๆปี
ที่มา http://event.sanook.com/day/piyamaharat/
เข้าชม : 1256
|