เนื้อหา : ข่าวประชาสัมพันธ์
หมวดหมู่ : ข่าวประชาสัมพันธ์
หัวข้อเรื่อง : รู้จัก “ฮิคิโคโมริ ซินโดรม” โรคเก็บตัวที่กลายเป็นปัญหาสังคม

เสาร์ ที่ 20 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2563


 ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวเด็กอายุ 16 ปี กระหน่ำแทงแม่ของตัวเองขณะนอนหลับรวม 12 แผล หลังจากนั้น 1 วัน เด็กก็ได้เข้ามอบตัว โดยให้ปากคำว่าที่ทำไปเพราะอยากมีชีวิตอิสระ ไม่ต้องการให้ใครมาบังคับให้อยู่ในกรอบหรือเป็นในสิ่งที่แม่อยากให้เป็น เพราะรู้สึกอึดอัด เนื่องจากไม่เคยปฏิเสธแม่ในสิ่งที่แม่อยากให้ทำ อีกทั้งยอมรับว่าตัวเองอยู่ในสังคมไม่ได้ ชอบเก็บตัวอยู่ในห้องมากกว่า ชอบเขียนเพลง ติดโซเชียลแต่ไม่ได้ติดเกม

หลายคนอาจมองว่าเด็กคนนี้ว่าไม่เคยได้รับการขัดเกลา ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ มองว่าเป็นความก้าวร้าวชอบใช้ความรุนแรง หรือคิดว่าเป็นแค่เด็กอวดดี โดยที่อาจคาดไม่ถึงว่านี่ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง แต่เป็นความผิดปกติด้านจิตใจอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ฮิคิโคโมริ ซินโดรม” ซึ่ง Tonkit360 จะอาสาเล่าให้ฟังว่าอาการนี้คืออะไร


“ฮิคิโคโมริ ซินโดรม” ไม่ใช่แค่เก็บตัว แต่เป็นความผิดปกติ

“ฮิคิโคโมริ ซินโดรม (Hikikomori Syndrome)” เป็นความผิดปกติทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม ไม่ชอบพบปะผู้คน ปิดกั้นตัวเอง โดยมักจะเก็บตัวอยู่แต่ในห้องหรือในบ้านโดยแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก หรือเรียกได้ว่าพยายามหลีกหนีและทำตัวให้หายไปจากสังคม ซึ่งฮิคิโคโมรินี้เป็นความผิดปกติ หลายคนจึงแยกไม่ค่อยออกระหว่างผู้ที่ป่วยกับคนชอบเก็บตัว

โดยปกติแล้ว เด็กวัยเรียนในช่วงอายุ 6-12 ปี เป็นช่วงวัยเรียนรู้หรือกำลังมีพัฒนาการในทุกด้าน การเรียนรู้ที่เด็กได้รับในช่วงนี้จะกระตุ้นการทำงานและพัฒนาสมอง ทำให้เด็กพัฒนาความสามารถอย่างรวดเร็วทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา การใช้ภาษา และการแก้ปัญหา จนมีความมั่นใจในตัวเอง มีอารมณ์มั่นคง สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ และเติบโตเป็นวัยรุ่น วัยทำงานของประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากพัฒนาการในวัยเด็กมีปัญหาหรือหยุดชะงักโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะส่งผลต่อพัฒนาการช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นรอยต่อของวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ และอาจกลายเป็นปัญหาสังคมได้ในอนาคต

เด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้และกำลังมีพัฒนาการในด้านต่างๆ จะอยากรู้อยากเห็น เล่นซน ชอบร่วมกิจกรรม สนุกสนานกับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน แต่หากเด็กคนไหนมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน ไม่ร่วมกิจกรรม ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการฮิคิโคโมริ ซินโดรม ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและถูกวิธี ก็อาจจะนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตเวชอื่นๆ ได้

สาเหตุของอาการฮิคิโคโมริ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ในการรักษาหรือให้คำปรึกษาผู้ที่มีอาการนี้ วิเคราะห์สาเหตุว่าอาจมาจากความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การถูกกลั่นแกล้งที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกแย่ หมดความมั่นใจ รู้สึกไม่เข้าพวก แรงกดดันจากคนรอบข้าง ทำให้เกิดความเครียด จนในที่สุดก็เริ่มกลัวการเข้าสังคม อ่อนไหวกับคำพูดเชิงวิจารณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่แย่ เป็นคนผิด เริ่มโทษตัวเอง ปฏิเสธความจริง และหนีปัญหา ตัดขาดจากโรคภายนอก และจะเก็บตัวอยู่ในเฉพาะที่ที่เป็น Safety Zone และ Comfort Zone ของตัวเอง

 

เนื่องจากฮิคิโคโมริ ซินโดรม เป็นภาวะผิดปกติทางจิตใจ จึงไม่แสดงความเจ็บป่วยทางร่างกาย แต่สังเกตได้จากพฤติกรรมการเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว ไม่พบปะผู้คน ไม่ไปเล่นกับเพื่อนฝูง ซึ่งจริง ๆ ควรจะเป็นไปตามวัย มักจะใช้เวลาอยู่กับการเล่นเกม ดูหนัง ดูทีวี อ่านการ์ตูน หรือสิ่งใดก็ตามที่ถึงขั้นหมกมุ่น เพื่อให้ตัวเองอยู่ไกลจากโลกภายนอกให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับรู้ปัญหา หรือความกดดันจากภายนอก


รู้ให้ทันเพื่อระวัง ป้องกัน และรักษา “ฮิคิโคโมริ ซินโดรม”

ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด ว่าพฤติกรรมของลูกหลานผิดปกติไปจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันหรือไม่ นี่จึงเป็นภัยเงียบที่จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าอาการรุนแรงขึ้นอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนรอบข้างได้ เพื่อให้ตัวเองหลุดจากความเครียด ความกดดันต่างๆ

แนวทางการรักษา ต้องพึ่งการเยียวยาทางจิตใจเป็นอันดับแรก เริ่มต้นจากคนรอบข้างต้องให้กำลังใจ ไม่มองว่าเด็กผิดปกติ และระวังการสร้างความกดดันใหม่ให้กับเด็ก ด้วยการปรับพฤติกรรมทุกอย่างให้เป็นไปในแง่บวก เช่น เปลี่ยนการดุด่าว่ากล่าวแรง ๆ หรือลงโทษเมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มาเป็นค่อยๆ พูดคุยสร้างความเข้าใจและให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงตัว หาเวลาทำกิจกรรมกับเด็กให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อพาเด็กออกมาจากห้องแคบๆ กินข้าว ดูหนัง ไปเที่ยวไกล ๆ บ้างตามโอกาส เป็นการสร้างความคุ้นเคยกับโลกภายนอก

อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การสร้างความมั่นใจให้เด็กกล้าออกไปเผชิญโลกภายนอก ฟังให้มากกว่าพูด ฟังเสียงเด็ก ฟังความคิดของเด็ก ชื่นชมและไว้ใจในตัวเด็กให้มากขึ้น ตรงส่วนนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเอง ความกล้าคิดกล้าลงมือทำ และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง จนในที่สุดเด็กจะมีกำลังใจในการต่อสู้กับตัวเองเอง แต่หากไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ก็ควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา

ฮิคิโคโมริ ซินโดรม ไม่ใช่ความผิดปกติที่รักษาไม่ได้ แต่อาจต้องใช้เวลาและใช้ความพยายามที่จะเข้าใจ โอกาสที่เด็กจะกลับมาเข้าสังคมได้ปกติก็มีอยู่มาก และเติบโตเข้าสู่วัยต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

 


เข้าชม : 1121


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน 17 / มี.ค. / 2565
      สารานุกรมไทย 15 / มี.ค. / 2565
      รู้จัก “ฮิคิโคโมริ ซินโดรม” โรคเก็บตัวที่กลายเป็นปัญหาสังคม 20 / มิ.ย. / 2563
      นักวิจัยแนะ “พักสมอง” หลังเรียนรู้สิ่งใหม่ จำได้ดีกว่า 20 / มิ.ย. / 2563
      เรื่องน่ารู้ สู้โควิด 2019 3 / เม.ย. / 2563




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ ที่นี่ เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป