วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓
ฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คน หรือ ฉัด-มง-คน) [Coronation Day] มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร
ซึ่งจะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่
๕ พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย
ต่อมาในวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ หลังจากรัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคต ทางรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันนี้ลง และกำหนดให้วันที่ ๒๘ กรกฎาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
และวันที่ ๑๓ ตุลาคม ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เป็นวันหยุดเพิ่มเติมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
ความสำคัญของวันฉัตรมงคล
เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย
ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ
ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ดังนั้น รัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรหรือรัฐพิธีฉัตรมงคล
หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ ๔ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้
ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไท ว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว
หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย
จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์
โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร ๙ ชั้น
ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล
ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน
ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก
และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์
ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๓
โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน
จึงถือให้วันนั้น เป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ
แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย
ดังนั้น จึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์
พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ วันบรมราชาภิเษก ตรงกับเดือน ๑๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน ๑๒ แต่ไม่ได้รับการยินยอม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น
ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก
แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน ๓ วัน คือ
วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ ๔ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ประกอบด้วย สรงพระมุรธาภิเษก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
วันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์
และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท
วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
วันที่ ๖ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จออกให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระราชพิธีฉัตรมงคลในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ประเทศไทยอยุ่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ เมื่อวันที่ ๓๐ เม.ย.๒๕๖๓
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงกล่าวถึงการจัดกิจกรรม วันฉัตรมงคล ว่า ไม่มีการจัดงานพระราชพิธี
หรือ จัดกิจกรรมแต่อย่างใด ซึ่งรัฐบาลได้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
๑.๑ การถวายพระพรชัยมงคล นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ในนามข้าราชการทหาร
ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า ประธานรัฐสภา ในนามสมาชิกรัฐสภา และประธานศาลฎีกา
ในนามข้าราชการตุลาการ จะบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล
โดยจะเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ในวันจันทร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ในช่วงข่าวพระราชสำนัก
๑.๒ การจัดทำสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส วันฉัตรมงคล จำนวน ๓ ตอน
ความยาวตอนละ ๓ นาที เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ในวันที่ ๒-๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ในช่วงข่าวพระราชสำนัก
๑.๓ หน่วยงานต่าง ๆ สามารถตกแต่งสถานที่และประดับธงตราสัญลักษณ์พระ ราชพิธี บรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
รวมทั้งตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พร้อม เครื่องราชสักการะและจัดให้มีสมุดลงนามถวายพระพรไว้ในสถานที่ตั้ง
๑.๔ การจัดทำคำถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์
ลงบนหน้าหลักของเว็บไซต์ของหน่วยงาน รวมทั้งนำภาพการจัดพิธีถวายพระพรชัยมงคลและภาพผลงานของหน่วยงาน
ที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ลงในเว็บไซต์ของหน่วยงาน
******************************************************************************************************************************************
ขอบคุณข้อมูล : https://th.wikipedia.org/ ขอบคุณรูปภาพ : https://www.google.com/
รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล : กานต์นภัส แสนยศ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด
เข้าชม : 1814
|