วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง
ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมอันวิเศษแล้ว พระองค์ได้ออกเดินทางเผยแพร่ธรรมะแก่ชาวชนบทน้อยใหญ่ในแถบดินแดนชมพูทวีป จนมีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเป็นจำนวนมาก ในกาลนั้นพระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์มาปรากฏกายทิพย์ ณ บนยอดดอยแห่งนี้ แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าไปทั่วบริเวณ
ขณะนั้นได้มีพญานาคคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในหนองบัว (อยู่ห่างจากวัด ประมาณ ๑ กิโลเมตร) ได้เห็นฉัพพรรณรังสี จึงแปลกใจพากันเลื้อยขึ้นสู่ยอดดอย ได้ทัศนาเห็นพระพุทธองค์ บังเกิดความเลื่อมใสจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มหญิงสาวมาเข้าเฝ้า พร้อมกับได้นำดอกบัวมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับเอาดอกบัวนั้นไว้แล้วจึงแสดงธรรมโปรดและประทานเกศาธาตุแก่พญานาคแปลงคู่นั้น พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หิน แล้วนำเอาพระเกศาธาตุบรรจุไว้บนดอยแห่งนี้
หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาธาตุให้แก่พญานาคแล้ว พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หิน แล้วนำเอาพระเกศาธาตุบรรจุไว้บนดอยแห่งนี้ ต่อมาได้มีนายพรานผู้แสวงหาของป่าได้มาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวย จึงเกิดอัศจรรย์แล้วได้นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้น กลางคืนได้นิมิตว่า เจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนในแถบนั้นขึ้นไปสักการบูชา และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า "ดอยเส้นเกศ" ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น "ดอยสะเก็ด"
ดอยแห่งนี้ได้มีพุทธศาสนิกชนขึ้นมากราบนมัสการเจดีย์หินอันเป็นที่บรรจุเกศาธาตุมากขึ้น จึงได้ก่อเจดีย์ปูนเสริมให้ใหญ่และมั่นคงกว่าเดิม และได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า "ครูบาเก๋" จากเมืองน่านมาสร้างวิหารและบูรณะเจดีย์พร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นวัด เรียกว่า "วัดดอยสะเก็ด" กระทั่งมีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในเชิงดอยและใกล้เคียงมากขึ้น ทางราชการจึงได้จัดตั้งเป็นอำเภอดอยสะเก็ด
ต่อมา เมื่อจุลศักราช ๑๑๙๗ พ่อน้อยอินทจักร ได้มาบูรณะวิหารหลังเก่าอีก เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๗ ครูบาชัยวัดลวงเหนือ (วัดศรีมุงเมืองในปัจจุบัน) ได้มาซ่อมแซมวิหารให้ดีกว่าเดิม และเสริมเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และในจุลศักราช ๑๒๕๗ ตรงกับพ.ศ. ๒๔๔๘ พระอภิวงศ์ หรือครูบากาวิชัย พร้อมด้วยพ่อหนานอินทวงศ์ (พ่อขุนผดุงดอยแดน) ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านเชิงดอยเป็นครอบครัวแรกได้ร่วมกันอุปถัมภ์วัดดอยสะเก็ดเรื่อยมา ต่อมามีพระครูมงคลคุณาทร (ครูบาหมื่น) เป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุวัดนี้ให้เจริญตามลำดับ
ต่อมามีพระครูรัตนปัญญาญาณ (มหาอินสม ป.ธ. ๔) พระครูพินิจสุภาจารย์ พระใบฏีกาพรหมบาล พระธวัชชัย ได้มาเป็นเจ้าอาวาส ได้มาพัฒนาวัดให้เจริญเรื่อยมา และได้มีพ่อขุนผดุงดอยแดน แม่คำเกี้ยว เจริญทรัพย์ คุณพระนิกรประชาเขตร มานางฟองเมฆ รามบุตร พ่อน้อยสิงห์แก้ว แม่นางบัวชุม เจริญทรัพย์ พ่อคำอ้าย แม่จันทร์เป็ง ชัยมงคล พ่อน้อยยุทธ แม่แก้ว พวงสายใจ พ่ออุ้ยเอี่ยง แม่อุ้ยบุญสายน้ำตาล พ่อกำนันจู แม่จันทร์ฟองเจริญทรัพย์ พ่อปลัดแก้ว แม่จันทร์พลอย พรหมขัติแก้ว ลูกหลานญาติมิตร ศรัทธาวัดดอยสะเก็ดทุกคน ได้อุปถัมภ์บำรุง ช่วยจรรโลงรักษาวัดให้มีความเจริญมั่นคงตลอดมา
เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๙ ทางคณะสงฆ์วัดเชียงใหม่ ได้ส่งพระครูมงคลสีลวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบุพพาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชพุทธิญาณ” รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดดอยสะเก็ด ได้ยกฐานะวัดดอยสะเก็ด ให้เป็นวัดพัฒนาประจำอำเภอ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ส่งพระมหาพายัพ ฐิตปุญโญ ป.ธ. ๔ (ปัจจุบัน พระโพธิรังษี (พายัพ ฐิตปุญฺโญ ป.ธ.๖) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและฟื้นฟู เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและนักธรรม โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และกำลังพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งทางด้านศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล ศาสนธรรม ดังปรากฏยู่ทุกวันนี้
วัดพระธาตุดอยสะเก็ด เป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ใครคิดหรือทำอะไรไม่ดีงามจะประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าปรารถนาหลายประการ ถ้าใครตั้งใจทำดีจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เจดีย์องค์เดิมของวัดดอยสะเก็ดมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ว่ากันว่าในโอกาสสำคัญและฤกษ์งามยามดีจะมีรัศมีสว่างไสว บางโอกาสจะมีแสงคล้ายดวงไฟลอยขึ้นสู่อากาศ ปีละหลายๆ ครั้ง (ปัจจุบันได้กะเทาะแล้วฉาบปูนใหม่ ส่วนเปลือกปูนจะนำไปทำเป็นพระผงมหาสิทธิลาภ รุ่นเจดีย์ให้สาธุชนได้เก็บไว้เป็นสิริมงคล ในอนาคตอันใกล้นี้) ทุกๆ ปีในเดือน ๘ เป็ง (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ใต้) ทางวัดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงมาจากที่ประดิษฐานเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ และจะมีปรากฏสิ่งอันเป็นปาฏิหาริย์ทุกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวและภาพประกอบ : ดอยสะเก็ด เพชรแห่งล้านนา
รวบรวม/เรียบเรียง : กานต์นภัส แสนยศ บรรณารักษ์
เข้าชม : 3232
|