สรรพคุณ
ส่วนต่างๆ ของต้นราชพฤกษ์มีประโยชน์ดังนี้
- ฝักแก่ เนื้อสีน้ำตาลดำและชื้นตลอดเวลา มีรสหวาน สามารถใช้เป็นยาระบายได้ โดยนำฝักมาต้มกับน้ำ
และเติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือก่อนรับประทานอาหาร นอกจากนั้น ฝักแก่ยังมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลง
เมื่อนำฝักมาบดผสมน้ำแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน สารละลายที่กรองได้สามารถฉีดพ่นกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักได้
ฝักแก่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มด้วยเตาเศรษฐกิจ มีขนาดที่พอเหมาะ ไม่ต้องผ่า เลื่อยหรือตัด
เนื้อของฝักแก่ใช้แทนกากน้ำตาลในการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์และจุลินทรีย์ขยาย
- ฝักอ่อน สามารถใช้ขับเสมหะได้
- ใบ สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคได้
- ดอก ช่วยแก้แผลเรื้อรัง ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร
นอกจากนั้น ราชพฤกษ์ยังเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาที สารสกัดจากฝักด้วยเอทานอลสามารถยับยั้งการเจริญของคะน้าได้
ความเชื่อ
ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคลนิยมใช้ประกอบพีธีที่สำคัญ เช่น พีธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล
และ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ
คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย
เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย
จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
คนไทยในสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี
ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอีกด้วย
นอกจากนี้มีความเชื่อว่า ใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์
ได้ผลดีดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลนาม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รวบรวม/เรียบเรียง: กานต์นภัส แสนยศ บรรณารักษ์