ทำไมทุเรียนถึงเป็นราชาผลไม้ และ มังคุดเป็นราชินีผลไม้
การนิยามทุเรียนว่าราชาผลไม้ และ มังคุดเป็นราชินีผลไม้นั้นมีที่มาหลายอย่าง
ด้านรูปลักษณ์ภายนอก
การนิยามทุเรียนว่าราชาผลไม้ และ มังคุดเป็นราชินีผลไม้นั้นมีที่มาหลายอย่าง แนวคิดแรกตั้งตามลักษณะภายนอกของทุเรียน ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีเปลือกหนามแหลมคมจึงทำให้หลายคนเปรียบเหมือนกับเป็นมงกุฏของพระราชา (ที่มียอดแหลม) ส่วนมังคุดก็เปรียบเป็นราชินีเนื่องจากตรงขั้วของมันที่เป็นกลมๆม้วนเป็นคลื่นคล้ายกับมงกุฎของราชินี ประกอบกับเนื้อในสีขาวสะอาดดังหญิงสาวบริสุทธิ์เลยทำให้มันถูกขนานนามเป็นราชินีเคียงคู่กับ ทุเรียน
ด้านการดูแลรักษาและราคา
ส่วนตัวผู้เขียนเองมองว่า คำว่าราชาผลไม้ของ ทุเรียน นั้นเป็นคำเรียกขานที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากความอร่อย การดูแลรักษา และราคาของมันนั้น หากใครปลูกทุเรียนจะรู้เลยว่า มันต้องดูแลรักษายากมาก ประคบประหงมดุจดั่งราชากันเลยทีเดียว ไม่อย่างนั้นทุเรียนก็จะไม่อร่อย ไม่สุก จนทำให้เน่าเสียได้
กลิ่นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราต้องยก ทุเรียน เป็นราชาผลไม้ เนื่องจากว่า กลิ่นของมันนี้หลายคนอาจจะมองว่าเหม็น แต่หลายคนก็บอกว่าหอมหวลชวนกินเสียเหลือเกิน ต้องยอมรับกันตามตรงว่าเรื่องกลิ่นนี้แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนเลยบางคนอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลิ่นของมันนี้รุนแรงกว่าผลไม้ทุกอย่างบนโลกใบนี้เลย ด้วยกลิ่นแบบนี้ทำให้เราต้องยกเค้าไว้ในฐานะราชาผลไม้เลย ส่วนมังคุดเองแม้จะมีกลิ่นไม่ฉุนเท่าทุเรียน แต่น่าแปลกกลิ่นของมังคุดกลับเป็นขั้วตรงข้ามกับทุเรียนอย่างน่าประหลาด เลยได้ชื่อว่าเป็นราชินีไปอย่างไร้ข้อกังขา
คุณประโยชน์และโภชนาการ
“ทุเรียน” ที่จัดได้ว่าเป็นราชาผลไม้ไทย เป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง วิตามินซี โพแทสเซียม และกรดอะมิโนซีโรโทเนอร์จิก ทริปโตเฟน และยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน อย่างดี ทุเรียนถือเป็นแหล่งไขมันสดที่ดีในอาหารไม่ผ่านความร้อนหลาย ๆ ชนิด นอกจากนี้ทุเรียนยังมีค่าดัชนีน้ำตาลที่สูงหรือเป็นอาหารที่มีไขมันมาก แต่ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะเพราะเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง หากกินครั้งละ 2-3 พู หรือเกือบครึ่งลูกจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน 400 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากินข้าว 1 มื้อ ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพราะหากกินเข้าไป นอกจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอีกด้วย นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ของทุเรียนสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ โดยใบมีรสขม เย็นเฝื่อน มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ และทำให้หนองแห้ง เนื้อทุเรียนมีรสหวาน ร้อน มีสรรพคุณให้ความร้อน แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิ เปลือกทุเรียนมีรสฝาดเฝื่อนใช้สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝี ตาน ซาง คุมธาตุ แก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง ส่วนรากมีรสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง
“มังคุด” ที่จัดได้ว่าเป็นราชินีผลไม้ไทย ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดอาการร้อนใน กากใยของเนื้อมังคุดยังช่วยเรื่องระบบขับถ่ายแก้ท้องผูก อีกทั้งมีวิตามินซีสูงต้านอนุมูลอิสระ ส่วนฟอสฟอรัส โพแทสเซียมช่วยให้ระบบเผาผลาญพลังงานเป็นปกติ นอกจากนี้เปลือกของมังคุดยังมีสารให้รสฝาด คือ แทนนิน แซนโทน (โดยเฉพาะแมงโกสติน) แทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้แผลหายเร็ว แมงโกสตินช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้ดี ในทางยาสมุนไพร ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟ ฝนกับน้ำปูนใส แก้ท้องเสีย เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูนใส ใช้รักษาอาการน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย เปลือกมังคุด มีสารป้องกันเชื้อราเหมาะแก่การหมักปุ๋ย
********************************
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.communiqueo.com และ www.unilife.co.th
รอบรวมและเรียบเรียงข้อมูลโดย : กานต์นภัส แสนยศ บรรณารักษณ์ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด
เข้าชม : 12470
|