เทศกาลกินเจ 2565
ปีนี้ตรงกับวันที่ 26 กันยายน - 4 ตุลาคม 2565 รวมเป็นเวลา 9 วัน
คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพระพุทธศาสนา หมายถึง “อุโบสถ หรือการรักษาศีล 8” ของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่จะมีการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคอะไรหลังเที่ยงวันตามหลักศีล 8 ข้อ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ช่วงหลังจึงเรียกคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ว่า “กินเจ” ไปด้วย แต่ถึงกระนั้นการกินเจไม่ใช่เพียงแต่งดเนื้อสัตว์ อาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ แต่ยังรวมถึงการรักษาศีล ประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ อีกด้วย
ช่วงเวลาเทศกาลกินเจ
ช่วงเทศกาลกินเจของทุกปี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย ตามปฏิทินสากล รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน
เทศกาลกินเจ เริ่มตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
เริ่มวันที่ 26 กันยายน - 4 ตุลาคม 2565 บางท่านอาจจะล้างท้องตั้งแต่วันที่ 25 กันยายนในมื้อเย็น ก็สามารถทำได้
ทำไมเราต้องกินเจ
- กินเจ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะอาหารเจถือเป็นอาหารชีวจิตอย่างหนึ่ง ช่วยปรับสภาพร่างกายให้สมดุล ล้างพิษในร่างกาย รวมถึงช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคนจีนเชื่อว่า เนื้อสัตว์เป็น “หยิน” และผักผลไม้เป็น “หยาง” โดยธรรมชาติคนเรามักทานเนื้อสัตว์เยอะกว่าผักผลไม้ การงดทานเนื้อสัตว์จึงเป็นการปรับให้หยินและหยางสมดุลมากยิ่งขึ้นด้วย
- กินเจ เพื่อทำบุญ เพื่อชำระล้างใจให้ใสสะอาด ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก ทำให้จิตใจเราผ่องใสมากขึ้น เมื่อเราทราบว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่ดี ก็จะส่งผลต่อจิตใจที่เบิกบาน เป็นสุขขึ้น
- กินเจ เพื่อละเว้นกรรม ที่เกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือแม้กระทั่งการจ้างฆ่าเพื่อการบริโภค หากเราทราบว่าการงดบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นการช่วยชีวิตสัตว์นับพันนับหมื่น เราก็จะช่วยลดกรรมของเราได้มากขึ้น
ทำไมต้องล้างท้อง
การล้างท้องหมายถึง เริ่มกินเจก่อนถึงวันเริ่มต้นเทศกาลจริง 1-2 วันเพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับสภาพ และทำความคุ้นเคยกับการกินเจได้ดียิ่งขึ้น
ธงเจ มีความหมายอย่างไร
- ตัวอักษรภาษาจีน อ่านว่า “ไจ” หรือ “เจ” หมายถึง “ของไม่มีคาว”
- ตัวอักษรสีแดง หมายถึง ความเป็นสิริมงคลในชีวิต พื้นหลังสีเหลือง หมายถึง สีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล
- ธงเจจึงเป็นสัญลักษณ์ของการกินเจ และเป็นเครื่องยืนยันย้ำเตือนพุทธศาสนิกชนให้หันมาเตรียมตัวร่วมเทศกาลกินเจด้วยกัน
นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ห้ามกินอะไรบ้าง
- ผักที่มีกลิ่นฉุน 5 อย่าง ได้แก่ กระเทียม (ไม่ดีต่อหัวใจ), หอมใหญ่ แดง ขาว ต้นหอม (ไม่ดีต่อไต), หลักเกียว ผักของจีน มีลักษณะคล้ายกระเทียมโทน (ไม่ดีต่อม้าม), กุยช่าย (ไม่ดีต่อตับ) และ ใบยาสูบ (ไม่ดีต่อปอดเมื่อใช้สูบ) นอกจากนี้ผักชนิดไหนที่มีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรทานระหว่างช่วงกินเจด้วย
- นม เนย น้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากสัตว์
- อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ใครที่กินเจจริงจัง ห้ามทานอาหารบนภาชนะที่ใช้ร่วมกับผู้ที่ไม่ได้กินเจ และต้องทานอาหารที่ปรุงจากคนที่กินเจด้วยกันเท่านั้น
กินเจ อาหารที่ทานได้
- ชา กาแฟ ที่ไม่ใส่นม เนย หรือครีมเทียม
- วิตามินเสริมอัดเม็ด ที่ไม่มีสารสกัดจากสัตว์
- ขนมกรุบกรอบ ที่ไม่มีส่วนผสมของสัตว์
- พริกไทย เป็นสมุนไพร (แต่หากรู้สึกว่ามีกลิ่นฉุน สามารถเลี่ยงได้)
- ขนมปัง (ที่เป็นขนมปังเจ หรือไม่มีส่วนผสมของนม)
- มาม่า หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (สูตรเจเท่านั้น)
- แต่งหน้า และฉีดน้ำหอม (สำหรับคนถือศีล 5 หากถือศีล 8 จะทำไม่ได้)
กินเจทานอาหารเหล่านี้ได้ แต่ไม่แนะนำ
- น้ำอัดลม (ไม่มีข้อห้าม แต่น้ำตาลสูงเกินไป)
- ผงชูรส (แม้จะทำจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาลจากอ้อย แต่ผงปรุงรสอาหารอื่นๆ มักผสมเนื้อสัตว์)
- ช็อคโกแลต (ส่วนใหญ่มีนมเป็นส่วนผสม แต่หากทานดาร์คช็อคโกแลต 100% ก็สามารถทำได้ แต่หายาก)
เตรียมตัวอย่างไรกับเทศกาลกินเจ
- ห้ามกินผักที่มีกลิ่นฉุนหรือผักที่มีกลิ่นแรง
เพราะจะทำให้ร่างกายและพลังธาตุถูกทำลาย ร่างกายเกิดการกระตุ้นจากรสของอาหารนั้นๆ ได้แก่ หัวหอม ต้นหอม ใบหอม หลักเกียว กุ้ยช่าย กระเทียม ใบยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา) หมายถึงต้องงดสูบบุหรี่และกินเหล้าในช่วงที่ถือศีลกินเจนี้ด้วย
- ห้ามกินเนื้อสัตว์
หรืออาหารที่มีส่วนผสมหรือส่วนประกอบ หรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไขมันสัตว์ ไข่ เลือด อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเนื้อสัตว์
- ห้ามกินอาหารที่มีรสจัด
ไม่ว่าจะเป็นทั้งเผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด หรือเปรี้ยวจัดก็ตาม เพราะอาหารที่มีรสจัดจะไปกระตุ้นต่อมต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานมากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นผลให้จิตใจไม่สงบในช่วงถือศีล กินเจนี้
- ห้ามกินอาหารที่คนปรุงไม่ได้ถือศีลกินเจ
ข้อนี้แหละที่ทำให้คนถือศีลกินเจต้องไปอยู่รวมกันในสถานที่ที่มีคนกินเจรวมตัวกันอยู่ อย่างเช่นโรงทาน ศาลเจ้าต่างๆ ที่จัดงาน เพราะคนที่ทำหน้าที่ทำอาหารนั้นจะถือศีลด้วย
- ถ้วยชามที่ใช้ใส่อาหารจะต้องไม่ปนกัน
ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือเบียดเบียนชีวิตใคร ต้องแต่งกายด้วยชุดขาว ห้ามพูดคำหยาบ โกหก ยุยง ส่อเสียด หรือพูดจาไม่เป็นสาระ
- ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
ในช่วงที่ถือศีลกินเจตลอด 9 วัน
- ห้ามดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง
ในสถานที่อย่างศาลเจ้า โรงเจ โรงทาน หรือสถานที่ที่จัดงานถือศีลกินเจ จะมีการจุดตะเกียง 9 ดวงเอาไว้ตลอดวันตลอดคืน จึงต้องมีคนเฝ้าไม่ให้ตะเกียงนั้นดับ
*******************************
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.sanook.com/health
รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล กานต์นภัส แสนยศ
เข้าชม : 892
|