ตรวจเบาหวานจากลมหายใจ นวัตกรรมไทยโดดเด่นในอินเดีย
ไบโอเทค - เครื่องตรวจเบาหวานจากลมหายใจไทย ได้คะแนนโหวตสูงสุดจากงานนักสร้างสรรค์นวัตกรรมและนักธุรกิจหน้าใหม่ที่อินเดีย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวเหมือนการเจาะเลือดตรวจน้ำตาลแบบเดิมๆ ใช้หลักการวัด “เมทิลไนเตรท” ในลมหายใจผู้ป่วยเบาหวานที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แจ้งข่าวว่า ผลงานวิจัยเครื่องตรวจเบาหวานจากลมหายใจของไทย ส่งผลงานเข้าแข่งขัน ในงาน Intel-DST Asia Pacific Challenge 2012 ณ เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย เมื่อเดือน ส.ค.55 ที่ผ่านมา ได้รับรางวัล Audience Choice Winner Award จากการลงคะแนนของผู้ร่วมงาน ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นสำหรับนักสร้างสรรค์นวัตกรรมและนักธุรกิจหน้าใหม่ด้านเทคโนโลยีใน 12 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมี 15,000 โครงการที่เข้าร่วมแข่งขัน
ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยทรัพยากรชีวภาพ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีทรัพยากรชีวภาพ ไบโอเทค ผู้วิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจดังกล่าว เผยว่า ได้ค้นคว้าและวิจัยหาวิธีในการตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บตัว สะดวกในการใช้ และไม่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกถึงความเป็นผู้ป่วยของตัวเอง
ดังนั้น จึงนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือตรวจเบาหวานจากลมหายใจ โดยใช้หลักการของเซนเซอร์เคมี ซึ่งเซนเซอร์ดังกล่าวจะวัดระดับสารเมทิลไนเตรท (methyl nitrate) จากลมหายใจของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งจะมีระดับที่สูงเกินเกณฑ์ปกติ และมีความสัมพันธ์แบบแปรผันโดยตรงกับปริมาณน้ำตาลหรือกลูโคสในเลือด จึงไม่ต้องเจาะเลือดจากผู้ป่วย
นอกจากนี้ โดยผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลชนะเลิศ True Innovation Awards 2011 ประเภทเมล็ดพันธุ์ความคิด (IDEA SEED) จากผลงานนวัตกรรมเรื่อง “เธอคือลมหายใจ เครื่องตรวจเบาหวานจากลมหายใจ” จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือน ม.ค.55 ที่ผ่านมา และได้พัฒนาต่อยอดแนวความคิด โดยออกแบบเซนเซอร์เพื่อใช้ตรวจวัดก๊าซ ซึ่งเป็นเครื่องหมายชีวภาพ (biomarker) ของน้ำตาลกลูโคสในเลือด ทั้ง 4 ชนิดที่ออกมาพร้อมกับลมหายใจ ได้แก่ อะซีโตน เอทานอล คาร์บอนไดออกไซด์ และ เมทิลไนเตรท ซึ่งก๊าซทั้ง 4 ชนิดนี้ สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดที่ยืนยันภาวะของโรคเบาหวานได้เที่ยงตรงมากขึ้น
ดร.สรวง เพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน นวัตกรรมเครื่องตรวจเบาหวานจากลมหายใจอยู่ในระหว่างพัฒนาต้นแบบเชิงพาณิชย์ โดยจะนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานในโรงพยาบาลรัฐบาลที่อยู่ในเครือข่ายวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งข้อควรปรับปรุงต่างๆ จะนำมาพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สมบูรณ์พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมจากความคิดของคนไทยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในอนาคตต่อไป
แหล่งข่าว: ผู้จัดการออนไลน์
|
เข้าชม : 1866
|