ดาวอัลฟาเซนเทอรีบี ซึ่งนักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบว่ามีดาวเคราะห์ขนาดเล็กและมวลใกล้เคียงกับโลกโคจรอยู่ ซึ่งนับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดเป็นระยะทางแค่ 4 ปีแสง (บีบีซีนิวส์)
|
นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์ดวงใหม่นอกระบบสุริยะ โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่งของกลุ่มดาวคนครึ่งม้า ซึ่งอยู่ใกล้โลกที่สุดเพียง 4 ปีแสง และเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่มีมวลใกล้เคียงกับโลก และโคจรรอบดาวแม่ของตัวเองในระยะใกล้กว่าดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์ของเรา
บีบีซีนิวส์ยังระบุด้วยว่า ดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบนี้อยู่นอกเขต “บริเวณที่อาศัยอยู่ได้” (habitable zone) ซึ่งหมายถึงบริเวณที่อยู่ของดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตน่าจะอาศัยอยู่ได้ โดยทีมวิจัยได้รายงานการค้นพบครั้งนี้ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) และคาดว่าดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์แค่ 1 ดวงนี้น่าจะมีดวงดาวเคราะห์อื่นๆ อีก
สำหรับดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดคือ ดาวพรอกซิมาเซนเทอรี (Proxima Centauri) และเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบดาวฤกษ์สามดวง โดยระบบดังกล่าวมีดาวฤกษ์ที่สว่างกว่าอยู่ด้วยคือ ดาวอัลฟาเซนเทอรีเอ (Alpha Centauri A) และดาวอัลฟาเซนเทอรีบี (Alpha Centauri B) ซึ่งอยู่กลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus)
ส่วนดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์อัลฟาเซนเทอรีบี ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงอื่นๆ ที่ได้รับการยืนยันการค้นพบแล้วกว่า 840 ดวง โดยอยู่ใกล้เพียง 4 ปีแสง
การค้นพบครั้งนี้ทีมวิจัยได้ใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกของกล้องโทรทรรศน์ลาซิลลา (La Silla) ในหอดูดาวซีกฟ้าใต้ของยุโรป (European Southern Observatory) ที่ชิลี วัดการเปลี่ยนแปลงของสเปกตรัมแสง เพื่อบอกว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้หรือไกลออกไปจากโลก
หากแต่เพราะดาวฤกษ์อัลฟาเซนเทอรีนั้นเป็นระบบดาวที่ค่อนข้างซับซ้อนและโคจรรอบดาวฤกษ์อื่นด้วย ทำให้การวัดเทียบดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนี้ค่อนข้างยาก แต่จากการวัดอย่างรอบคอบเป็นเวลากว่า 4 ปี ทีมวิจัยพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์เพียง 3.6 วันเท่านั้น
ประเมินว่าพื้นผิวดาวเคราะห์ดังกล่าวน่าจะมีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศาเซลเซียส เพราะโดยมากดาวเคราะห์ที่อยู่ในวงโคจรดังกล่าวมักหันด้านเดียวเข้าหาดาวแม่ ทำให้อุณหภูมิร้อนจัด แต่ยังต้องเก็บข้อมูลการสังเกตเพิ่มขึ้นเพื่อหาคำตอบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีชั้นบรรยากาศหรือไม่
ทั้งนี้ นับแต่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในช่วงแรกๆ เมื่อต้นทศวรรษ 1990 นั้น ทำให้มีความหวังว่าเราจะค้นพบ “ดาวเคราะห์แฝด” ที่คล้ายโลก โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายโลก และมีระยะห่างเหมือนๆ กับดาวเคราะห์ของเรา แต่เราก็ยังไม่พบดาวเคราะห์แบบนั้น
สำหรับดาวเคราะห์ที่โคจรรอบอัลฟาเซนเทอรีบีนั้นคล้ายโลกในแง่ของมวลเท่านั้น และทำให้ดาวเคราะห์ดังกล่าวถูกจัดอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เล็กที่สุดที่เรารู้จัก แต่ในรายการที่มีดาวเคราะห์หลายร้อยดวงที่ได้รับการยันยืนการค้นพบและดาวเคราะห์อีกนับพันดวงที่รอการค้นพบมาตั้งแต่ปี 1992 นั้น ดาวเคราะห์ดวงใหม่ก็เป็นดาวเคราะห์อีกดวงที่ไม่ได้น่าสนใจนัก นอกจากเรื่องระยะที่ใกล้โลกมากเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สตีเฟน ยูดราย (Stephane Udry) จากหอดูดาวเจนีวา (Observatory in Geneva) และเป็นนักวิจัยอาวุโสในทีม กล่าวว่า ดาวฤกษ์อัลฟาเซนเทอรีบียังคงมีความพิเศษอย่างมาก เพราะเป็นดาวฤกษ์เพื่อนบ้านที่ถัดไปไม่ไกล และการค้นพบว่าสุดนี้ก็นับเป็นการค้นพบที่สำคัญ เพราะดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบนั้นมีมวลที่น้อยมาก และยังเป็นดาวเคราะห์ในระบบที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดด้วย
ด้าน มาเรก คูคูลา (Marek Kukula) นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวหลวงกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) กล่าวถึงการค้นพบครั้งนี้ว่า จากการค้นพบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ชี้ว่าที่ใดที่เราได้ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเล็ก ที่นั่นเราจะพบดาวเคราะห์หินด้วย โดยเขาเชื่อว่าอาจจะมีดาวเคราะห์ที่เล็กกว่าดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบนี้อยู่ในระบบดาวฤกษ์เดียวกัน และอาจจะเป็นดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิพอเหมาะแก่การดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราค้นหากันต่อไป