พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
พระองค์ทรงสนพระทัยด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ทรงสนับสนุนในการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยทรงเป็นแบบอย่างในการเสด็จทรงเครื่องดนตรีไทยร่วมกับประชาชนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยโดยการชำระโน้ตเพลง บันทึกเพลงเก่า และเผยแพร่งานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดการเผยแพร่งานทางด้านดนตรีไทย ซึ่งจากงานทางด้านการอนุรักษณ์ดนตรีไทย ครูเสรี หวังในธรรม ได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่”
นอกจากด้านดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้าน การช่างไทย นาฏศิลป์ไทย งานพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน ภาษาและวรรณกรรมไทย พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า “ เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ” เมื่อ พ.ศ. 2531 และ “วิศิษฏศิลปิน” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา รวมทั้ง ทรงมีคุณูปการต่อเหล่าศิลปินและศิลปวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีซึ่งมีฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์เป็น "วันอนุรักษ์มรดกของชาติ" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอีกด้วย ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2523
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดียสารายุกรมเสรี https://th.wikipedia.org
รวบรวมและเรียบเรียงโดย : กานต์นภัส แสนยศ (บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่)
เข้าชม : 2875
|