พระราชประวัติ
ขณะทรงพระเยาว์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร อันเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระราชมารดา มีพระเชษฐาสองคนคือหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากรและหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร และมีพระขนิษฐาหนึ่งคนคือท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์
สำหรับพระนาม "สิริกิติ์" ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร"[8] เรียกโดยลำลองว่า "คุณหญิงสิริ"[9] ส่วนพระราชสวามีจะทรงเรียกว่า "แม่สิริ"
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีอายุราว 2 ปี ขณะที่พี่เลี้ยงอุ้มอยู่นั้นก็มีแขกเลี้ยงวัวเข้ามาทำนายทายทัก ว่าเด็กผู้หญิงคนนี้จะมีบุญวาสนาได้เป็นราชินีในอนาคต ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าไว้ ความว่า
|
...วันหนึ่งขณะที่พี่เลี้ยงอุ้ม ม.ร.ว.สิริกิติ์ เดินเล่น พอดีขณะนั้นมีแขกเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน พอแขกที่มาเหลือบเห็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ ก็จ้องมองพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ ๆ หน่อย เมื่อเข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า "ต่อไปจะเป็นมหารานี" พี่เลี้ยงได้ฟังก็ชอบใจเที่ยวเล่าให้คุณยายและใครต่อใครฟัง ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เจริญวัยขึ้น เลยเป็นเหตุให้คุณพี่ชายทั้งสองคนเอามาล้อเลียนเป็นที่ขบขันว่าเป็นราชินีแห่งอบิสซีเนีย [เอธิโอเปียในปัจจุบัน] บางครั้งถึงกับทำให้ผู้ถูกล้อต้องนั่งร้องไห้ด้วยความอายและเจ็บใจ แต่พี่ชายทั้งสองก็ยังไม่หยุดล้อ กลับเอาเศษผ้าขาด ๆ มาทำเป็นธงโบกอยู่ไปมา พร้อมทั้งบอกว่าเป็นธงประจำตัวของราชินี...
|
|
— ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา |
สอดคล้องกับหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี ที่กล่าวถึงเกี่ยวกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้เพื่อน ๆ จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ที่ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยฟังว่ามีหมอดูมาที่ตำหนักของท่านพ่อ แล้วทายทักว่าจะได้เป็นราชินี โดยที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เองและเพื่อนฝูงก็มิได้ใส่ใจนัก แต่เพื่อน ๆ ก็ขนานนามว่า "ราชินีสิริกิติ์" มาแต่นั้น แม้จะเป็นเรื่องขบขันของราชสกุลกิติยากร แต่ไม่มีใครคาดถึงว่าในอีก 15 ปีต่อมาคำทำนายของแขกเลี้ยงวัวผู้นั้นจะเป็นความจริง
ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ส่วนหม่อมหลวงบัวซึ่งมีครรภ์แก่ยังคงอยู่ในสยาม แต่ได้เดินทางไปสมทบหลังจากให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ 3 เดือน โดยมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) และท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว ดังนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงต้องอยู่ไกลจากบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย บางคราวต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา
ปลายปี พ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการแล้วกลับมาสยาม จึงทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 2 ปี 6 เดือน ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ณ ตำหนักในวังเทเวศร์ บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
การศึกษา
พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุได้ 4 ปี ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในสยามจะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือสงครามแปซิฟิกเริ่มแผ่ขยายมาถึงสยาม จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคมไม่สะดวก บิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เริ่มเรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสซึ่งทรงสันทัดเช่นกัน
พ.ศ. 2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นาน บิดาย้ายไปประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศสตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีสจนจบ
ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น
อภิเษกสมรส
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมีหม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ภายหลังคือ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[19] ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ก็ได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. 2493 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระองค์ท่านโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับด้วย
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงจัดขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรพร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย
ต่อมา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ จนกระทั่ง พระองค์มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชันษาได้ 3 เดือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีจึงเสด็จนิวัติประเทศไทย
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้สัตย์ปฏิญาณในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อ
รัฐสภา ณ
พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2499
เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช
ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการประกาศว่า ตามราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 ในประเทศไทย โดยพระองค์แรก คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
พระประชวร
เช้าตรู่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเวียนพระเศียรและเซขณะทรงออกพระกำลัง ณ โรงพยาบาลศิริราชที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่ คณะแพทย์ตรวจพระองค์โดยวิธีสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กแล้วแถลงว่า ทรงประสบภาวะพระสมองขาดเลือด(ischemic stroke)
พระองค์จึงประทับรักษาพระวรกายอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราชและทรงงดเว้นพระราชกิจนับแต่นั้น รวมถึงการเสด็จออกมหาสมาคมในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555[26]
ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเผยถึงพระอาการว่า ทรงได้รับการรักษาและบำบัดจนทรงหายดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจของแพทย์ ทรงพระดำเนินได้คล่องแคล่วและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่แพทย์ยังให้พระองค์เว้นพระราชกิจไปก่อน
ครั้นวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ได้แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล พร้อมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556 สำนักพระราชวังแถลงว่า ทรงปวดพระอังสากับข้อพระกรซ้าย คณะแพทย์ตรวจแล้วพบว่าพระนหารูอักเสบ จึงถวายพระโอสถและกายภาพบำบัด
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถปรากฏพระองค์ ขณะเสด็จฯ ตามพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชออกจากโรงพยาบาลศิริราช ณ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยทรงโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ก่อนเสด็จกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ผู้ถวายงาน กล่าวว่าพระองค์ทรงมีพลานามัยแข็งแรงดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org
เรียบเรียงข้อมูลโดย กานต์นภัส แสนยศ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด