กำเนิดวันสงกรานต์
ประเพณี สงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงามฝังลึกอยู่ในชีวิตของคนไทย
คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายมาช้านาน การย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง จะเป็นราศีใดก็ได้ แต่ความหมายที่คนไทยทั่วไปใช้ หมายเฉพาะวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน เท่านั้น
ตำนานการกำเนิดวันสงกรานต์
ตำนานการเกิดสงกรานต์ กล่าว ไว้ว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐี จึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ นับ แต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลา ย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "ธรรมบาล" ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร
เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง 7 ขวบก็เรียนจบไตรเพท ยังมีเทพองค์หนึ่งชื่อ "ท้าวกบิลพรหม" ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า
1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก 7 วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า "พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน" นกสามีก็ตอบว่า "พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกถามว่า "ปัญหานั้นว่าอย่างไร" นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง
ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหมจึงเรียก ธิดาทั้ง 7 ของตน อันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกั น แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุท ร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะแล้วจึงตัดศีรษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุก ๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา 7 องค์ ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก
ตำนานนางสงกรานต์
นางสงกรานต์ เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศรีษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่
1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี
ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
2. นางสงกรานต์โคราดเทวี
โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
3. นางสงกรานต์รากษสเทวี
รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)
4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี
มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี
กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ดัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี
มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
นางสงกรานต์ปี 2563 ทรงนาม "โคราคะเทวี"
ในปี 2563 นี้ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้มีประกาศสงกรานต์ไว้ดังนี้ ปีชวด (เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ) โทศก จุลศักราช 1382 ทางจันทรคติ เป็นอธิกวาร ทางสุริยคติ เป็นอธิกสุรทิน วันที่ 13 เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 29 นาฬิกา 48 นาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหาร น้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงธนูหรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร มาเหนือหลังพยัคฆะ เป็นพาหนะ
วันที่ 16 เมษายน เวลา 09 นาฬิกา 24 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1382 ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็นธงชัย วันอาทิตย์ เป็นอธิบดี วันพุธ เป็นอุบาทว์ วันอังคาร เป็นโลกาวินาศ ปีนี้ วันศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 250 ห่า นาคให้น้ำ 1 ตัว
เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 0 ชื่อปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9
ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหารแล เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ , หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ
รวบรวมและเรียบเรียง : กานต์นภัส แสนยศ บรรณารักษ์