[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
  
 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : พระราชสำนัก
หัวข้อเรื่อง : วันฉัตรมงคล

จันทร์ ที่ 3 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2564


 

วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ 

ฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คน หรือ ฉัด-มง-คน) [Coronation Day]
มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร
ซึ่งจะกระทำในวันคล้ายวัน
บรมราชาภิเษก
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
 รัชกาลที่ ๙
พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ ๕
 พฤษภาคม 
เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย
         ต่อมาในวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ หลังจากรัชกาลที่ ๙ 
เสด็จสวรรคต 
ทางรัฐบาลที่มี พล.อ.
ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ได้ประกาศลงใน
ราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันนี้ลง และกำหนดให้วันที่ ๒๘ กรกฎาคม 
อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 
และวันที่ ๑๓
 ตุลาคม ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต
ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เป็นวันหยุดเพิ่มเติมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป

ความสำคัญของวันฉัตรมงคล
      เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย
ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ
ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”



ดังนั้น รัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม
จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรหรือรัฐพิธีฉัตรมงคล
หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก
ถวายเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทย จึงได้ถือเอาวันที่ ๔ พฤษภาคม ของทุกปี
เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้


ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไทว่า
เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว
หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย


จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์
โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ”
และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร ๙ ชั้น




ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล
ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน
ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง
ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก
และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง
จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์
ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๓
โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคล
สมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน
จึงถือให้วันนั้น เป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล
และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ

แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ
อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอธิบายว่า
วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย
ดังนั้น จึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ขึ้น
โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์
ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ


ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล
เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ วันบรมราชาภิเษก ตรงกับเดือน ๑๒
จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน ๑๒ แต่ไม่ได้รับการยินยอม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น
ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก
ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก
แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม
รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน



พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน ๓ วัน คือ
วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ ๔ พฤษภาคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ประกอบด้วย สรงพระมุรธาภิเษก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ
เลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย


วันที่ ๕ พฤษภาคม
เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย
สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์
และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค
จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท
วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วันที่ ๖ พฤษภาคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เสด็จออกให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


พระราชพิธีฉัตรมงคล
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโคโรนา ๒๐๑๙


เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ ที่กระทรวงมหาดไทย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า
ด้วยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า
เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔
รัฐบาลเห็นสมควรดำเนินการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล
เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
โดยที่ในขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ระลอกใหม่ขึ้น
จึงเห็นควรจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ให้สอดคล้องกับมาตรการต่าง ๆ
เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-๑๙ ไม่ให้กระจายไปในวงกว้าง
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ
จึงได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
ประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พร้อมเครื่องราชสักการะ บริเวณอาคารสำนักงาน
ประดับธงชาติไทยคู่กับธงพระปรมาภิไธย ว.ป.ร.
พร้อมประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว
บริเวณรั้วอาคารสำนักงานตลอดเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔
รวมทั้งประดับไฟบริเวณอาคารสำนักงานให้สวยงามในระยะเวลาที่เห็นสมควร

รวมถึงจัดทำคำถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในวันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์
และสมุดลงนามถวายพระพรชัยมงคลอิเล็กทรอนิกส์ลงบนหน้าหลักเว็บไซต์จังหวัด
พร้อมทั้งเชิญชวนผู้บริหารและบุคลากรในสังกัด
ร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคลผ่านระบบออนไลน์ ตลอดเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔
และแจ้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ อำเภอ
และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดดำเนินการจัดทำด้วย

นอกจากนี้ ให้เชิญชวนบริษัท ห้างร้าน และประชาชนในจังหวัด
ร่วมประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย
ประดับธงชาติไทยคู่กับธงพระปรมาภิไธย ว.ป.ร.
และประดับไฟบริเวณอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย
ตลอดเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ด้วยความสมัครใจ

  ******************************************************************************************************************************************
ขอบคุณข้อมูล : 
https://th.wikipedia.org/ และ https://www.matichon.co.th/  ขอบคุณรูปภาพ : https://www.google.com/

รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล : กานต์นภัส  แสนยศ บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด 



เข้าชม : 1162


พระราชสำนัก 5 อันดับล่าสุด

      งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ 25 / ก.ค. / 2567
      สกร. รวมใจภักดิ์ 22 / ก.พ. / 2567
      สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา 10 / ธ.ค. / 2566
      ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ วันแม่แห่งชาติ 10 / ส.ค. / 2566
      วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 27 / ก.ค. / 2566


 
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-496147
  ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด 555 หมู่ที่ 3 ถนนบ่อสร้าง-เชียงใหม่ อำเเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-495500
Doisaketlibrary@gmail.com
libdoisaket@cmi.nfe.go.th
บาคาร่า Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี