ภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
ความหมายตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคล
เฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
- อักษรพระนามาภิไธย ส.ก. อยู่ภายในกรอบรูปหัวใจพื้นสีฟ้า
- อักษร "ส" สีฟ้า เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ
- อักษร "ก" สีขาวเป็นสีเดชของวันพระราชสมภพ
- พื้นกรอบสีชมพูลายดอกมะลิ สีชมพูเป็นสีแห่งศรีของวันพระราชสมภพ
ดอกมะลิเป็นดอกไม้มงคลสัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติ
ด้านบนเป็นพระมหามงกุฎภายในประดิษฐานพระแสงจักรและพระแสงตรี
สื่อถึงทรงอยู่ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ขนาบซ้าย-ขวา
พระมหามงกุฎด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ฉัตรขาว ๗ ชั้น
เป็นฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- การนำดอกมะลิมาร้อยเรียงเป็นมาลัยลายเกลียวรูปหัวใจ
รอบอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. สื่อถึง
การร้อยเรียงดวงใจอย่างกลมเกลียวถวายพระองค์ผู้ทรงเป็นแม่ของแผ่นดิน
ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจชาวไทยทั้งชาติและผู้ทรงพระคุณ
อันประเสริฐยิ่งต่อลูกคือประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า
ให้พ้นจากความทุกข์ยาก และมีอาชีพเลี้ยงตน
- รูปลายหงส์ประคองฉัตร ซ้าย-ขวา หมายถึงพระสิริโฉมสง่างามสูงค่าดังหงส์
ลวดลายไทย หมายถึงพระปรีชาชาญยิ่งด้านศิลปวัฒนธรรม
พระราชทานกำเนิดศิลปาชีพ และทรงส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติไทย
ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
- เลขไทย ๙๐ ภายใต้มาลัยหัวใจ หมายถึงเลขมงคล
อันเป็นอภิลักขิตสมัยที่ทรงเจริญ
พระชนมพรรษาบรรจบครบ ๙๐ พรรษา
ผ้าแพรแถบสีฟ้าอักษรบอกชื่องาน
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
*****************************
วันแม่แห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี
เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย นับว่าเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ประวัติวันแม่แห่งชาติ
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานวันแม่แห่งชาติแห่งชาติขึ้นครั้งแรก
เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๖ ที่สวนอัมพร จนกระทั่งได้มีการงดการจัดวันแม่ขึ้น
เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะบ้านเมืองไม่สงบและพร้อมที่จะจัดงาน
ทำให้ต้องงดงานวันแม่ในปีต่อมา และเมื่อเหตุการณ์สงครามสงบลง
มีการพยายามที่จะจัดงานวันแม่ขึ้นมาอีกจากหลายๆหน่วยงาน
แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และเปลี่ยนการจัดงานไปหลายครั้ง
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ ก็มีการจัดวันแม่
โดยการรับรองจากรัฐบาล คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ และทำให้ต้องหยุดเรื่องการจัดงานวันแม่อีกครั้ง
เหตุเพราะกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
ต่อมาได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๕
โดยสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น ก็ต้องหยุดไปอีก
และในปี พ.ศ.๒๕๑๙ คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน
ซึ่งได้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง
วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ
จากหนังสือของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ชื่อแม่หลวงของปวงชน
พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐
มีข้อความตอนหนึ่งเทิดพระเกียรติไว้ว่า
“แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริมธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
เพราะแม่ทราบดีว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้วความเป็นไทยที่แท้จริง
จะมิปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา
หญิงไทยทุกคน ย่อมจะมีคุณลักษณะต่างๆ ของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว
จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษาและการฝึกอบรม
แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการเสมอเหมือน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นั้นไม่ง่ายนัก
ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ
ว่าทรงเป็นแม่หลวงของปวงชน ผู้ทรงเป็นศรีสง่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ของบ้านเมืองและของประชาชนชาวไทยทั้งมวล”
ความสำคัญของวันแม่
วันแม่แห่งชาติ
เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ทำให้เราต้องหวนกลับมาระลึกถึงพระคุณของ แม่
ผู้ให้กำเนิด แม่ผู้เลี้ยงดู รวมถึงแม่ของแผ่นดิน
เพราะแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดในชีวิต
คือ บุคลลผู้ให้ชีวิต ผู้คอยคุ้มครอง ผู้มอบความอบอุ่น
แม่ เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่คอยปกป้องลูกๆ
ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนคอยผลักดันให้ลูกเกิดความสำเร็จในทุกๆ ด้าน
ในประเทศไทย ทางราชการจะมีการจัดงานวันแม่อย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติคุณของ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในฐานะแม่ของแผ่นดิน พร้อมกันนั้นก็ยังมีการจัดงานประกาศเกียรติคุณเพื่อมอบรางวัล
แม่ดีเด่น ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก รวมถึงแม่คนอื่นๆ ในแต่ละปีอีกด้วย
ดอกมะลิ
เป็นที่รู้กันว่า “ดอกมะลิ” เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ
เนื่องจากดอกมะลิถือเป็นดอกไม้มงคลของไทย
ดั้งเดิมคนไทยนิยมนำดอกมะลิไปบูชาพระในวันพระ
และวันสำคัญทางศาสนา เพราะมีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมยาวนาน
ออกดอกได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการนำไปผลิตเป็นกลิ่นต่างๆ
ที่มีฤทธิ์เป็นยาหอมอย่างดีของไทยเรา
ดอกมะลิเปรียบถึงความรักอันบริสุทธิ์ ที่แม่มีต่อลูก และมีอย่างยาวนานตลอดไป
เสมือนสีและกลิ่นของดอกมะลิที่ขาวตลอดเวลาและหอมอบอวนตลอดทั้งวันทั้งคืน
ในประเพณีไทยการไหว้มารดาจึงนิยมใช้ดอกมะลิเป็นดอกไม้หลัก
และในบางแห่งได้มีการนำดอกมะลิทำเป็นเข็มกลัด ติดที่ปกเสื้อหรืออกเสื้อ
เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
คำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ความว่า
"พระคุณแม่ยิ่งใหญ่เกินใดเปรียบ จะหาใครมาเทียบยากจักหา
ประพฤติดีด้วยใจกายวาจาประกาศคุณมารดาต่อแผ่นดิน"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล กานต์นภัส แสนยศ บรรณารรักษ์ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด
----------------------------------------------------------------------------