[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
  
 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : วันสำคัญ
หัวข้อเรื่อง : วันสุนทรภู่ 2567

พุธ ที่ 26 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2567


 

26 มิถุนายน ''วันสุนทรภู่ 2567'' 

ประวัติสุนทรภู่ กวีเอกของโลก 

"สุนทรภู่" เกิดวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ณ บริเวณด้านเหนือของพระราช วังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน)

บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นคนจังหวัดใด สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เมื่อท่านเกิดได้ไม่ถึงหนึ่งขวบ บิดามารดาได้หย่าร้างกัน บิดากลับไปบวชที่วัดป่า อำเภอแกลง ส่วนมารดาได้ถวายตัวเป็นแม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

สุนทรภู่อยู่กับมารดา เข้าเรียนที่สำนักวัดชีปะขาวหรือวัดศรีสุดาราม มีความรู้จนได้เป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ด้วยความไม่ชอบงานเสมียน ทำได้ไม่นานก็ลาออก 

สุนทรภู่อยู่ในวังกับมารดา จนอายุได้ 20 ปี ได้ลอบรักใคร่กับสาวชาววัง ชื่อ จัน จนถูกลงโทษจองจำและถูกโบย เมื่อพ้นโทษ ได้กลับไปหาบิดาที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง และแต่งงานกับจัน แต่อยู่กันไม่นานก็เกิดระหองระแหง คงเป็นเพราะสุนทรภู่เมาสุราอยู่เป็นนิตย์ จึงได้เลิกหย่าร้างกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด 

 ในสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ถูกกล่าวหา ด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่องอื่นๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ บวชใหม่ถึง 2 ครั้ง แล้วลาสิกขาบทถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง ในปี พ.ศ. 2394 รับราชการอยู่ 4 ปีก็ถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี

"สุนทรภู่" ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 69 ปี

สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า “ห้องสุนทรภู่” เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี

ผลงานของสุนทรภู่ 
มีนิราศ 9 เรื่อง นิทาน 5 เรื่อง สุภาษิต 3 เรื่อง บทละคร 1 เรื่อง บทเสภา 2 เรื่อง และบทเห่กล่อม 4 เรื่อง ในปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปี สุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นกวีเอกของโลก เพื่อรำลึกถึงสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันที่รำลึกถึงสุนทรภู่ มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

บทประพันธ์ ผลงานของสุนทรภู่ 
งานประพันธ์ของ "สุนทรภู่" เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นตามจำนวนเท่าที่ค้นพบ ก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าสุนทรภู่เป็น "นักแต่งกลอน" ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก ผลงานของสุนทรภู่เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

  • นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) : แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
  • นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) : แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชา
  • นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) : แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
  • นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) : แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
  • นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) : แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของพัด ภู่เรือหงส์ บุตรของสุนทรภู่
  • นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) : แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
  • รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) : แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
  • นิราศพระปฐม (พ.ศ. 2385) : เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ที่เมืองนครชัยศรี
  • นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) : แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว  เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี
  • นิทานโคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่ เป็นเรื่องราวของ "โคบุตร" ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์
  • นิทานพระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่ง ๆ หยุด ๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน
  • นิทานพระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง16  กาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385
  • นิทานลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง
  • นิทานสิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว
  • สุภาษิตสวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
  • เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
  • สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่ เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่าน่าจะเป็นผลงานของภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่เอง
  • บทละครอภัยนุราช : เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม
  • เสภาพระราชพงศาวดาร ไม่มีระบุรายละเอียด

บทเห่กล่อมพระบรรทม : น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ

  • เห่เรื่องพระอภัยมณี
  • เห่เรื่องโคบุตร
  • เห่เรื่องจับระบำ
  • เห่เรื่องกากี

ผลงานวรรณกรรม บทประพันธ์สุนทรภู่ คำกลอนสอนใจคุ้นชินในห้องเรียน

"วรรคทอง" บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง
 
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
 
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
 
(พระฤาษีสอนสุดสาคร)

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฏิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา



เข้าชม : 192


วันสำคัญ 5 อันดับล่าสุด

      วันปิยมหาราช 22 / ต.ค. / 2567
      วันแม่แห่งชาติ ๒๕๖๗ 6 / ส.ค. / 2567
      วันสุนทรภู่ 2567 26 / มิ.ย. / 2567
      วันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเรียนรู้ 20 / พ.ค. / 2567
      ๒ เมษายน ๒๕๖๗ วันรักการอ่าน 4 / เม.ย. / 2567


 
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-496147
  ห้องสมุดประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด 555 หมู่ที่ 3 ถนนบ่อสร้าง-เชียงใหม่ อำเเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-495500
Doisaketlibrary@gmail.com
libdoisaket@cmi.nfe.go.th
บาคาร่า Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี