ไม่มีดวงอาทิตย์ก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตได้!
ภาพดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ที่ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ก็อาจมีสิ่งมีชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก สามารถมีชีวิตสืบทอดเผ่าพันธุ์มาได้ก็เพราะได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์จึงเปรียบเหมือนต้นกำเนิดของทุกชีวิตในโลก แน่นอนว่าในดาวเคราะห์ดวงอื่นจะมีสิ่งมีชีวิตได้ ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขเดียวกันคือ ต้องได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ ภายในระบบสุริยะของมันเอง แต่คุณจะเชื่อผมหรือไม่ครับ ถ้าหากผมจะบอกว่า ดาวเคราะห์ที่สามารถที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้นั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับพลังงานจากดา่วฤกษ์ก็ได้
นักเอกภพวิทยา จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา พบว่า ดาวเคราะห์ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้นั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ก็ได้ แต่ต้องมีแหล่งความร้อนภายในดาวเคราะห์เอง เช่น ความร้อนจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี โดยที่มีชั้นน้ำแข็งหนาๆ เป็นฉนวนความร้อนห่อหุ้มไว้
งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นก็เพราะ นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งเกิดสงสัยขึ้นว่า “โลกจะเป็นอย่างไรนะ ถ้าหากไม่มีดวงอาทิตย์” แนวคิดดังกล่าว ทำให้สหายของเขา เอริก สวิตเซอร์ นักเอกภพวิทยา เริ่มโครงการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ สวิตเซอร์กล่าวเปรียบเทียบว่า ดาวเคราะห์อย่างโลกเรานั้น จะต้องมีแผ่นน้ำแข็งหนา 15 กิโลเมตรเพื่อเป็นฉนวน ถ้าหากไม่ได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ ซึ่งแหล่งพลังงานความร้อนของโลกก็คือ การสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีต่างๆ อาทิ โพแทสเซียม-40 ยูเรเนียม-238 และ ทอเรียม-232 รวมทั้งพลังงานอื่นๆ ตั้งแต่การก่อตัวของดาวเคราะห์ เขากล่าวอีกว่า ดาวเคราะห์เช่นนี้จะอุ่นพอที่จะให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการและดำรงชีวิตอยู่ได้
แต่ในระบบสุริยะของเรา ก็มีดวงจันทร์อยู่มากมายหลายดวง ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เช่น ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ดวงจันทร์ 2 ใน 4 ของดวงจันทร์กาลิเลียน(คือดวงจันทร์ทั้ง 4 ของดาวพฤหัสบดีที่กาลิเลโอค้นพบ จากการใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ท่านประดิษฐ์ขึ้นเอง) คือ ดวงจันทร์ยูโรปา และคัลลิสโต และดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงหนึ่ง คือดวงจันทร์เอนซาลาดัส พบว่าดวงจันทร์เหล่านี้มีชั้นมหาสมุทรที่เป็นของเหลวอยู่ มีทั้งแหล่งพลังงาน น้ำ และสภาพทางเคมีที่เอื้อต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต
แต่ถ้ามีคนถามว่า มีโอกาสไหมที่ดาวเคราะห์จะอยู่โดดๆ โดยที่ไม่ได้สังกัดอยู่ในระบบสุริยะใด หรือไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใด ผมก็จะตอบว่า มีโอกาสครับ ความคิดนี้ไม่ถือว่าเป็นความคิดที่เพ้อเจ้อไปซะทีเดียว เพราะจากการคำนวนของนักดาราศาสตร์แล้ว มีโอกาสที่ดาวเคราะห์จะอยู่เดี่ยวๆ โดดๆ ได้ อันเนื่องมาจากการรบกวนกันเอง ระหว่างดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ หรืออาจเป็นการรบกวนจากดาวฤกษ์ที่ผ่านเข้าใกล้ จนทำให้เกิดเเรงเหวี่ยงกลุดออกไปจากระบบ แบบจำลองจากการคำนวนแสดงผลว่า่ ในแต่ละระบบสุริยะมีโอกาสที่ดาวเคราะห์จะหลุดออกไปจากระบบได้ ปรมาณ 1-2 ดวง ต่อระบบ
ข้อมูลจาก : สมาคมดาราศาสตร์ไทย thaiastro.nectec.or.th
เข้าชม : 845
|