สวทช.- แจกพริกขี้หนูไทยที่ส่งไปโคจรรอบโลกนานกว่า 4 เดือน แก่เยาวชนและโรงเรียนต่างๆ รวม 14 โครงการ เพื่อนำเมล็ดพริกดังกล่าวไปทดลองปลูกเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ส่งขึ้นไป
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำพิธีแจกเมล็ดพริกขี้หนูอวกาศแก่นักเรียนและโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกในโครงการเมล็ดพันธุ์อวกาศเพื่ออนาคตอาเซียน (Space Seed for Asian Future 2010-2011) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.55 ณ โรงแรมสยามซิตี โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีดังกล่าว
ทั้งนี้ มีนักเรียนและโรงเรียน 14 โครงการที่ได้รับเมล็ดพริกซึ่งถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อโคจรรอบโลกนานกว่า 4 เดือน ดังนี้
ร.ร.ประชาวิทย์ จ.ลำปาง,
ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม,
ร.ร.ผ่องสุวรรณวิทยา สายไหม กรุงเทพฯ,
สาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น,
ร.ร.ไม้ยาวิทยาคม จ.เชียงราย,
ร.ร.หนองเต่าวิทยา จ.อุทัยธานี,
ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า กรุงเทพฯ,
ร.ร.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ,
ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์,
ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ,
ร.ร.เทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ,
ด.ช.อินทัช บรูเซอร์แฟนเกอร์โน
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำนักงานได้รับการติดต่อจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจกซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) ว่า จรวดเอชทีวี 2 ซึ่งเป็นจรวดขนส่งสัมภาระของแจกซา ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติยังมีพื้นที่ว่าง และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ได้สิทธิในการส่งสัมภาระไม่เกิน 100 กรัม ขึ้นไปโคจรในอวกาศเป็นครั้งที่สอง
ในครั้งนี้ไทยได้ส่งเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูของไทยไปกับจรวดเอชทีวี 2 ซึ่งถูกยิงจากฐานปล่อยจรวดทาเนกะชิมะ (Tanegashima) ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 ม.ค.54 โดยเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวโคจรรอบโลกเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน และได้เดินทางกลับสู่พื้นโลกพร้อมกับกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.54 ที่ผ่านมา
“เที่ยวบินดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของกระสวยอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งยานเอนเดฟเวอร์เป็นยานกระสวยอวกาศลำดับสุดท้ายของทัพกระสวยอวกาศดังกล่าว และมีเที่ยวบินแรกเมื่อ 7 พ.ค.35 หรือ 19 ปีที่แล้ว อีกทั้งเป็นลำแรกที่นำชิ้นส่วนสถานีอวกาศนานาชาติในส่วนของสหรัฐฯ ขึ้นไปติดตั้ง ส่วนชื่อเอนเดฟเวอร์ได้จากชื่อเรือสำรวจของกัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษผู้โด่งดัง” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
สวทช.ได้จัดตั้งโครงการเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนขึ้น เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และเปิดโอกาสให้เยาวชนมีโอกาสร่วมในวิทยาศาสตร์อวกาศ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์สาขาสำคัญของโลก โดยได้พิจารณาข้อเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศจากนักเรียนผู้สนใจทั่วประเทศ และมีผู้ได้รับคัดเลือก 14 โครงงาน
แหล่งข่าว:ผู้จัดการออนไลน์
|