ดาวเคราะห์
เวลาหัวค่ำมีดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่าง 2 ดวง อยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก ต้นเดือนดาวศุกร์ออกจากกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เข้าสู่กลุ่มดาวปลา โดยผ่านใกล้ดาวยูเรนัสในคืนวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ด้วยระยะห่าง 0.6° ตลอดเดือนนี้ดาวศุกร์มีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นจาก 15.1 ไปที่ 18.3 พิลิปดา สว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร –4.1 ไปที่ –4.3 พื้นผิวด้านสว่างลดลงจาก 74% ไปที่ 64%
ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวแกะ สูงกว่าดาวศุกร์บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ห่างดาวศุกร์ประมาณ 40° ปลายเดือนเข้าใกล้กันมากขึ้นจนอยู่ห่างกันประมาณ 13° ต้นเดือนดาวพฤหัสบดีตกลับขอบฟ้าราวเที่ยงคืน ปลายเดือนตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 4 ทุ่ม เดือนนี้ดาวพฤหัสบดีมีขนาดปรากฏในแนวศูนย์สูตรลดลงจาก 39.1 ไปที่ 36.1 พิลิปดา ความสว่างลดลงจากโชติมาตร –2.3 ไปที่ –2.2
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ดาวพุธผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอก (superior conjunction) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างโลกกับดาวพุธ หลังจากนั้นดาวพุธจะเคลื่อนออกห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำในปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยช่วงวันที่ 20-29 กุมภาพันธ์ ดาวพุธมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นจาก 5.4 ไปที่ 6.4 พิลิปดา ความสว่างลดลงจากโชติมาตร –1.2 ไปที่ –0.9 พื้นผิวด้านสว่างลดลงจาก 92% ไปที่ 68%
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดาวอังคารถอยจากกลุ่มดาวหญิงสาวเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต ดาวอังคารกำลังจะผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในต้นเดือนมีนาคม ตลอดเดือนนี้ ดาวอังคารจึงมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นจาก 11.9 ไปที่ 13.8 พิลิปดา ความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร –0.6 ไปที่ –1.2 สามารถสังเกตดาวอังคารได้เกือบตลอดทั้งคืน ต้นเดือนขึ้นเหนือขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณ 3 ทุ่มเศษ ปลายเดือนปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท
ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ห่างดาวอังคารไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40° จึงขึ้นช้ากว่า สังเกตได้ดีในช่วงเช้ามืดก่อนฟ้าสาง ต้นเดือนดาวเสาร์ขึ้นมาที่มุมเงย 10° เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ ปลายเดือนเริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 4 ทุ่ม ตลอดเดือนนี้ขนาดปรากฏตามแนวศูนย์สูตรของดาวเสาร์เพิ่มขึ้นจาก 17.6 ไปที่ 18.4 พิลิปดา สว่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโชติมาตร +0.6 ไปที่ +0.4
ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.9) อยู่ในกลุ่มดาวปลา สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ในสถานที่และเวลาที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวน เวลาที่สังเกตได้ดีที่สุดคือเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิทหลังสิ้นแสงสนธยา กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ดาวยูเรนัสจะเคลื่อนต่ำลงจนมีมุมเงยต่ำกว่า 15°ในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม โดยดาวศุกร์จะมีตำแหน่งอยู่ใกล้ดาวยูเรนัสในคืนวันที่ 10 กุมภาพันธ์
ดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายคือดาวเนปจูน (โชติมาตร +8.0) ขณะนี้อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ จึงไม่สามารถสังเกตได้ แผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน ดูที่ดาวเคราะห์ในปี 2555
ดวงจันทร์
หลังจากดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันที่ 31 มกราคม 2555 ต้นเดือนกุมภาพันธ์จะเข้าสู่ครึ่งหลังของข้างขึ้น ค่ำวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ ดวงจันทร์อยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่ที่ระยะห่าง 4° วันถัดไป ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ใกล้ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัวที่ระยะ 6° จากนั้นดวงจันทร์เต็มดวงในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลาหัวค่ำของวันนั้น จะเห็นดวงจันทร์อยู่ทางขวามือของดาวหัวใจสิงห์ที่ระยะ 6°
เมื่อเข้าสู่ข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าในเวลาเช้ามืดของทุกวัน วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวอังคารที่ระยะห่าง 11° เช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ ดวงจันทร์ ดาวเสาร์ และดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ห่างกัน 6°
หลังจากดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ ดวงจันทร์จะเป็นเสี้ยว วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ จันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่องที่ระยะ 5°
เช้ามืดวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่มีโอกาสเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด เช้าวันนั้นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางเฉียบ อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย หลังจันทร์ดับในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พลบค่ำวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ มีโอกาสเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ห่างไปทางขวามือของดาวพุธที่ระยะ 7° โดยอยู่สูงกว่าดาวพุธเล็กน้อย อาจต้องใช้กล้องสองตากวาดหาในบริเวณใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก
ค่ำวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ จะเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ต่ำกว่าดาวศุกร์ที่ระยะห่าง 5° ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 3 ทุ่มเศษ คืนถัดไป ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ระหว่างดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี โดยเยื้องไปทางขวามือของแนวเส้นที่ลากระหว่างดาวเคราะห์ทั้งสอง วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะ 5° จากนั้นคืนวันสุดท้ายของเดือน จะเห็นดวงจันทร์สว่างเกือบครึ่งดวงอยู่เหนือกระจุกดาวลูกไก่ที่ระยะห่าง 5°
เข้าชม : 1083
|