ณ ดินแดนที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและหนาวเหน็บเกินกว่าจะจินตนาการได้เอง ด้วยเหตุที่ดินแดนแห่งนี้ไม่มีมนุษย์คนใดครอบครอง “แอนตาร์กติกา” จึงยังคงความเป็นธรรมชาติอย่างที่เป็นมามากกว่าที่ใดในโลก และภายใต้แผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมาเท่าตึกหลายชั้นนั้นได้เก็บงำข้อมูลของโลกในยุคต่างๆ ไว้นานนับล้านปี จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายดั้นด้นออกไปผจญความทารุณของสภาพอากาศเพื่อไขว้คว้าความรู้กลับมา
การไปถึงทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) ที่พื้นที่ 98% เป็นน้ำแข็งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากข้อจำกัดทางกายภาพที่เข้าถึงยากแล้ว ยังมีการคุ้มครองโดยสนธิสัญญาว่าด้วยทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctic Treaty) ซึ่งเริ่มต้นมี 12 ประเทศที่ร่วมกันลงนามเพื่อกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ปราศจากกิจกรรมทางทหารและการพาณิชย์ รวมถึงยับยั้งการอ้างสิทธิเหนือดินแดน แต่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือการวิจัย โดยญี่ปุ่นเป็นชาติเดียวและชาติแรกในเอเชียที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้น การมุ่งหน้าสู่ดินแดนแห่งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อการวิจัยเท่านั้น
คนไทย ณ แอนตาร์กติกา
สำหรับประเทศไทยซึ่งแม้ไม่ได้ร่วมในสนธิสัญญาดังกล่าวแต่ก็มีตัวแทนนักวิจัยไทย 2 คนที่มีโอกาสเดินทางไปทำวิจัยถึงแอนตาร์กติกาด้วยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยขั้วโลกญี่ปุ่น (The National Institute of Polar Research, Japan: NiPR) ได้แก่ ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดินทางไปร่วมวิจัยกับคณะวิจัยญี่ปุ่นเมื่อปี 2547 และในปี 2552 ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาเดียวกันก็ได้เดินทางไปวิจัยที่แอนตาร์กติกาอีกคน
นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชวงศ์ของไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนทวีปแอนตาร์กติกา โดยเสด็จฯ เยือนเมือเดือน พ.ย.2536 แล้วประทับ ณ สกอตต์เบส (Scott Base) สถานีวิจัยของนิวซีแลนด์ในแอนตาร์กติกา และยังเสด็จเยือนสถานีวิจัยของสหรัฐฯ รวมถึงเสด็จทอดพระเนตรแคมป์ของนักสำรวจแอนตาร์กติกาในยุคแรกๆ เช่น แคมป์กัปตันโรเบิร์ต ฟอลคอน สก็อตต์ (Robert Falcon Scott) ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ผู้พิชิตขั้วโลกใต้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เป็นต้น
ส่วนการเดินทางของนักวิจัยไทยนั้นเป็นการเดินทางไปพร้อมคณะนักวิจัยญี่ปุ่นที่แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดสำรวจฤดูร้อน (summer party) และ ชุดสำรวจข้ามฤดูหนาว (overwintering party) โดยนักวิจัยทั้ง 2 คน ร่วมเดินทางไปกับคณะวิจัยญี่ปุ่นในฐานะผู้สังเกตการณ์ (Observer) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลุ่มของคณะสำรวจ เนื่องจากไม่ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้าร่วม โดยคณะสำรวจยังประกอบด้วยกลุ่มนักวิจัย (Researcher) ที่ได้รับหน้าที่ศึกษาวิจัยตามกำหนด และกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน (Operator) ที่รับผิดชอบการบริหารและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสถานีวิจัย เช่น วิศวกร ช่างไฟฟ้า แพทย์และพ่อครัว เป็นต้น
ท่องสู่ดินแดนน้ำแข็งอย่างยากลำบาก
จากประสบการณ์ของ ผศ.ดร.สุชนา ซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านหนังสือ “แอนตาร์กติก...ดินแดนแห่งน้ำแข็ง” ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ฉายให้เห็นภาพว่าแค่เพียงเดินเรือไปยังทวีปแอนตาร์กติกายังต้องใช้เวลาระยะนานหลายสัปดาห์และเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะเรือต้องล่องผ่านน้ำแข็งและทะเลน้ำแข็งที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีการตัดน้ำแข็งเพื่อให้เรือเดินทางไปถึงเป้าหมาย ซึ่งบางครั้งเรือติดแผ่นน้ำแข็งจนขยับไปไหนไม่ได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเรือลำอื่น
สำหรับญี่ปุ่นนั้นได้เข้าร่วมสำรวจแอนตาร์กติกาหลังเพิ่งแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการเริ่มต้นเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเรือลำแรกที่นำคณะสำรวจแอนตาร์กติกญี่ปุ่น (Japanese Antarctic Research Expedition: JARE) ไปถึงทวีปแอนตาร์กติกาคือเรือ “โซยะ” (Soya) ซึ่งเป็นเรือตัดน้ำแข็งที่ดัดแปลงมาจากเรือตรวจการของกรมเจ้าท่า ซึ่งมีหลายครั้งที่เรือลำนี้ต้องติดน้ำแข็งจนเคลื่อนไม่ได้ แต่โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากเรือสำรวจของชาติอื่นๆ ที่สามารถตัดน้ำแข็งได้
ในคณะสำรวจชุดแรกของญี่ปุ่นพวกเขาเดินทางไปพร้อมกับสุนัขพันธุ์แซ็กคาลีนฮัสกี แต่ด้วยสภาพทะเลน้ำแข็งที่หนามากจนทำให้เรือโซยะที่กลับไปรับคณะสำรวจไม่สามารถเข้าใกล้ชายฝั่งมากพอ ทางคณะสำรวจจึงต้องทิ้งสุนัขไว้ที่สถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) ณ เกาะอองกูร์ ที่คณะสำรวจสถาปนาขึ้นเมื่อเดินทางไปถึง โดยนำสุนัขแม่ลูกอ่อนเพียง 1 ตัวและลูกๆ กลับมา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นปรับแผนด้วยการนำเฮลิคอปเตอร์มาช่วยในการลำเลียงสัมภาระเพื่อเป็นแผนสำรอง
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีเรือตัดน้ำแข็งเพื่อใช้ขนส่งคณะสำรวจไปยังทวีปแอนตาร์กติกาแล้วทั้งหมด 4 ลำ ซึ่งเรือลำล่าสุดคือเรือชิราเซะ (Shirase) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับเรือลำที่ 3 แต่มีความสามารถในการบรรทุกคณะสำรวจได้ 85 คน (ในจำนวนนี้ไม่รวมเจ้าหน้าที่ประจำเรือที่มีราว 200 คน) ซึ่งมากกว่าชิราเซะลำเดิม 20 กว่าคน จึงมีพื้นที่เพิ่มสำหรับ ผศ.ดร.สุชนาในการเข้าร่วมคณะสำรวจด้วย
มีอะไรน่าสนใจที่แอนตาร์กติกา?
เนื่องจากไม่มีมนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานที่แอนตาร์กติกาทำให้ทวีปแห่งนี้คงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติไว้ได้ แต่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าก๊าซเรือนกระจกที่เราเร่งปล่อยกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ถูกกักเก็บไว้ในชั้นน้ำแข็งที่บริเวณขั้วโลกใต้ด้วย ซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะการหมุนของโลกทำให้ก๊าซเหล่านั้นไปรวมกันที่แอนตาร์กติกา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถเจาะแผ่นน้ำแข็งขึ้นมาศึกษาข้อมูลภูมิอากาศโลกย้อนกลับไปได้ถึง 900,000 ปี โดยฟองอากาศที่อยู่ในน้ำแข็งจะบ่งบอกถึงความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ
จากกระแสตื่นตัวเรื่องโลกร้อนที่หลายคนกังวลว่า หากน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกาละลายจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงมาก เพราะน้ำแข็งในทวีปแห่งนี้ตั้งอยู่บนแผ่นดิน แต่ ดร.คาซูยูกิ ชิราอิชิ (Dr.Kazuyuki Shiraishi) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยขั้วโลกญี่ปุ่นกล่าวว่า ในระยะเวลาอันสั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกาเป็นเช่นไร เพราะขณะที่น้ำแข็งในอาร์กติกละลายลงอย่างรวดเร็ว ทีมวิจัยของญี่ปุ่นกลับพบว่าน้ำแข็งของแอนตาร์กติกาหนาขึ้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม
“น้ำแข็งที่อาร์กติกลดน้อยลงซึ่งจากข้อมูลในปี 2553 พบว่าน้ำแข็งที่ทวีปนี้หายไปเยอะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สำหรับแอนตาร์กติกายังบอกไม่ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าในคาบสมุทรแอนตาร์กติกซึ่งอยู่ใกล้ทวีปอื่นจะพบการลดลงของน้ำแข็ง แต่ที่สถานีโชว์วะซึ่งอยู่ทางตะวันออกของทวีปกลับพบน้ำแข็งเพิ่มขึ้น แต่น้ำแข็งที่ซีกโลกเหนือหายไปก็มีข้อดี เพราะทำให้การเดินเรือสะดวกขึ้นและไม่ต้องผ่านช่องแคบ ทำให้การใช้น้ำมันลดลงด้วย” ดร.ชิราอิชิกล่าว
ส่วนทรัพยากรในแอนตาร์กติกาที่น่าสนใจนั้น ผอ.สถาบันวิจัยขั้วโลกญี่ปุ่นกล่าวว่า ทรัพยากรที่ทวีปดังกล่าวล้วนมีความสำคัญเท่าๆ กัน ทั้งแร่ธาตุและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำทั้งหลาย นอกจากนี้น้ำแข็งในปริมาณมหาศาลก็อาจจะเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญในอนาคต รวมถึงน้ำมันซึ่งมีอยู่ในทวีปนี้ด้วยแต่มีข้อจำกัดที่เราไม่อาจทำการพาณิชย์จากทรัพยากรในทวีปแห่งน้ำแข็งนี้ตามที่มีการตกลงในสนธิสัญญา
จัดนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ การศึกษาแอนตาร์กติกาไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้สืบต่อการทำงานของคนรุ่นเก่าๆ ทางสถาบันวิจัยขั้วโลกญี่ปุ่นจึงร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดนิทรรศการ “แอนตาร์กติก...โลกเก่าสู่การค้นพบใหม่” ขึ้น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช.คลอง 5 ปทุมธานี ซึ่งเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ภายในนิทรรศการได้จัดแสดงตัวอย่างจากแอนตาร์กติกา อาทิ นกเพนกวินสตัฟฟ์ แมวน้ำสตัฟฟ์ กระโจมที่ใช้งานระหว่างการสำรวจขั้วโลกใต้ อุปกรณ์ประกอบอาหาร รวมถึงปลาชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การเดินทางไปวิจัยร่วมกับคณะสำรวจญี่ปุ่นที่แอนตาร์กติกา ของ ผศ.ดร.วรณพ และ ผศ.ดร.สุชนา ด้วย |
|
ร่างสตัฟฟ์ของแมวน้ำแวดเดิลจากแอนตาร์กติกา |
|
|
|
|
ดร.สุชนาและเครื่องครัวที่ใช้งานในแอนตาร์กติกา |
|
|
|
|
ดร.วรณพและนิทรรศการผลงานจากการร่วมสำรวจแอนตาร์กติกา |
|
|
|
|
ดร.คาซูยูกิ ชิราอิชิ ผอ.สถาบันวิจัยขั้วโลกญี่ปุ่น |
|
|
|
|
ตัวอย่างปลาหินแอนตาร์กติกา |
|
|
|
|
กระโจมใช้งานระหว่างสำรวจแอนตาร์กติกา |
|
|