นักวิชาการ ระบุ กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงเหมือน “เม็กซิโกซิตี” ที่ราบคาบจากแผ่นดินไหว เมื่อ 27 ปีก่อน ทั้งๆ ที่จุดศูนย์กลางอยู่ไกลกว่า 350 กิโลเมตร เหตุเพราะอยู่บนพื้นที่ดินอ่อนเช่นเดียวกัน และไม่ได้ออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหว แจงมี 3 รอยเลื่อนที่กำหนดความเสี่ยงเมืองกรุง คือ รอยเลื่อนในเมืองกาญจน์ พม่า และแนวมุดตัวทางฝั่งอันดามัน ชี้ ควรสร้างอาคารที่รองรับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
รศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2554 มีความตื่นตัวในเรื่องแผ่นดินไหวกันมากขึ้น ซึ่งจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงทั้งในนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จนถึงแผ่นดินไหวล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 เม.ย.55 นั้น อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ มีการสั่นไหวอย่างรุนแรง
เหตุที่อาคารสูงในกรุงเทพฯ สั่นไหวอย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ดินอ่อน หรือดินเลน เมื่อถูกกระตุ้น จึงขยายการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ถึง 3 เท่า แม้เหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 26 ธ.ค.47 ที่เกาะสุมาตรา มีจุดศูนย์กลางอยู่ไกล 1,200 กิโลเมตร หรือแผ่นดินไหวในจีนที่อยู่ไกลออกไปถึง 2,600 กิโลเมตร ก็พบว่า มีการเขย่าของตึกสูงในกรุงเทพฯ แต่ รศ.ดร.อมร กล่าวว่า แม้อาคารสูงจะสั่นอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถล่มเสมอไป ส่วนหนึ่งเพราะอาคารสูงมักได้รับการออกแบบให้รองรับแรงลมระดับหนึ่งอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี ตึกสูงในกรุงเทพฯ ยังคงมีความเสี่ยงจากเหตุแผ่นดินไหวอยู่ดี โดย รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า คลื่นสั่นสะเทือนจากพื้นดินมีความรุนแรงมากกว่าแรงลมอยู่มาก และแม้กรุงเทพฯ ไม่ได้ตั้งอยู่ในแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แต่สภาพดินก็ขยายความรุนแรงได้ถึง 3 เท่า โดยเฉพาะความถี่ต่ำๆ จากแผ่นดินไหวจะถูกขยายความรุนแรงโดยอาคารสูงที่มีการโยกอย่างช้าๆ หรือมีความถี่ธรรมชาติที่ตรงกับคลื่นแผ่นดินไหว จึงเกิดการสั่นพ้อง หรือการกำทอนขึ้น
ทางด้าน รศ.ดร.อมร ได้เปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเหมือนกรุงเม็กซิโกซิตี ของเม็กซิโก เนื่องจากมี 3 ปัจจัยคล้ายกัน คือ 1.ไม่มีรอยเลื่อนอยู่ใต้เมือง 2.ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน และ 3.อาคารไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อปี 2528 เกิดแผ่นดินไหว 8.5 ริกเตอร์ ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี ออกไป 350 กิโลเมตร ส่งผลให้อาคารต่างๆ ถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 10,000 คน
สำหรับเมืองไทยนั้น รศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า มี 3 ปัจจัยที่กำหนดความเสี่ยงให้กรุงเทพฯ คือ รอยเลื่อนใน จ.กาญจนบุรี ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ริกเตอร์ รอยเลื่อนสะแกง หรือรอยเลื่อนสกายตามภาษาถิ่นในพม่าที่อยู่ห่างออกไป 400 กิโลเมตร มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ และแนวมุดตัวบริเวณเกาะนิโคบาร์ทางฝั่งอันดามัน (แนวเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2547) ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 600 กิโลเมตร มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวถึง 8.5 ริกเตอร์
ทั้งนี้ รศ.ดร.อมร กล่าวว่า สำหรับกรุงเทพฯ นั้น ต้องใช้เม็กซิโกซิตีเป็นแบบจำลอง เพราะมีปัจจัยความเสี่ยงเหมือนกัน และแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่เตือนไม่ได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องอยู่บนอาคารที่ปลอดภัย ซึ่งทางวิศวกรรมสถานฯ ได้ศึกษาข้อมูลจนนำไปสู่การออก “กฎกระทรวง” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในปี 2550 สำหรับบังคับใช้ในการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวสำหรับพื้นที่เสี่ยง
กฎกระทรวงดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 3 บริเวณ คือ บริเวณที่ 1 ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร บริเวณที่ 2 ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และ ลำพูน และบริเวณเฝ้าระวัง ได้แก่ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และ สุราษฎร์ธานี หากแต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและต้องปรับแก้กันต่อไป
สำหรับอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวนั้น รศ.ดร.อมร แนะนำให้เสริมความแข็งแรงด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ โดยใช้พันรอบเสาในในตำแหน่งที่จะเสียหายได้ง่าย เช่น โคนเสา เป็นต้น แต่วิธีนี้มีราคาประมาณ 200,000 บาท จึงมีอีกวิธีสำหรับอาคารที่ไม่สูงเกิน 6 ชั้น หรืออาคารตึกแถว ให้ใช้เหล็กปลอกพันรอบโคนเสาแล้วพันทับด้วยลวดกรงไก่จากนั้นฉาบปูนทับ ซึ่งจะได้เสาที่มีความแข็งแรงขึ้นในต้นทุนเสาละประมาณ 1,000 บาท
เข้าชม : 594
|