เนื้อหา : สาระน่ารู้การพัฒนาอาชีพ
หมวดหมู่ : สมุนไพรน่ารู้
หัวข้อเรื่อง : ขิง

อาทิตย์ ที่ 10 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2566

คะแนน vote : 33  

 

ขิง

ชื่อสมุนไพร ขิง
ชื่ออื่นๆ ขิงแดง , ขิงแกลง (จันทบุรี) ขิงบ้าน , ขิงแครง , ขิงป่า , ขิงเขา , ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง) , ขิงเผือก (เชียงใหม่) , สะแอ (แม่ฮ่องสอน-กระเหรี่ยง) , เกีย (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe.
ชื่อพ้อง Ginger
ชื่ออังกฤษ Cultivated banana
วงศ์ Zingiberaceae

 

ประโยชน์และสรรพคุณขิง

  • เป็นยาบำรุงกำลังและยาอายุวัฒนะ
  • ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีในร่างกาย
  • ช่วยให้ระบบขับถ่ายในร่างกายดีขึ้น
  • ช่วยรักษาอาการร้อนใน
  • ขับล้างสารพิษและคอเลสเตอรอล,ไขมัน ออกจากร่างกาย
  • ช่วยแก้อาการหนาวสั่น
  • ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการคลื่นใส้อาเจียนได้
  • ช่วยลดอาการปวดศีรษะและไมเกรนได้
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม
  • สามารถช่วยรักษาโรคนิ่ว
  • ช่วยขับถ่ายของเสียออกจากลำไส้
  • ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • ช่วยในการย่อยอาหาร
  • ช่วยลดกลิ่นปาก แก้อาการปากเหม็น  

            ขิงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางอาหารเนื่องมีธาตุฟอสฟอรัสและวิตามิน เอ สูงและยังช่วยในการปรับปรุงรสชาติอาหาร คนโบราณนำส่วนต่างๆ ของขิง ได้แก่ แง่งขิง เปลือกขิง น้ำมันหอมระเหยและใบ สดๆ มาใช้เป็นยาสมุนไพร เพื่อรักษาโรคชนิดต่างๆ 
            การใช้เป็นอาหาร ขิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ขิงอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ใช่ทำผัดขิง ใสในยำเช่นยำหอยแครง ใส่ในแกงฮังเล น้ำพริก กุ้งจ่อม ซอยใส่ในต้มส้มปลา เมี่ยงคำ ไก่สามอย่าง ใช้ทำขิงดอง ใส่ในบัวลอยไข่หวานเพื่อดับกลิ่นคาวไข่ ทำเป็นอาหารหวาน เช่น น้ำขิง เต้าฮวย ขิงแช่อิ่ม ขนมปังขิง และยังทำเป็นขิงผงสำเร็จรูป สำหรับชงดื่มได้อีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ขิง 

ขิงแก้หวัดแก้ไอ ใช้เหง้าขิงสดอายุ 11-12 เดือน ขนาดเท่าหัวแม่มือ หนักประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก แล้วต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยก็อาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง หรืออาจเหยาะเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยหากมีอาการไอร่วมกับเสมหะ เกลือจะทำให้ระคายคอและขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา จิบน้ำขิง บ่อยๆ แทนน้ำ รับรองอาการหวัดหายเป็นปลิดทิ้ง
ขิงแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จุก เสียดแน่น แก้ปวดท้อง นำขิง 30 กรัม ชงกับน้ำเดือด 500 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (60 มิลลิลิตร) ใช้ ขิงแก่ต้มกับน้ำ รินน้ำดื่มแก้โรคจุกเสียด ทำให้หลับสบาย ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำมาดื่มระหว่างอาหารแต่ละมื้อ ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลี หรือประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ชงน้ำร้อน เติมน้ำตาลดื่ม
ขิงแก้ไอ ใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม ใส่น้ำ 3 แก้ว นำไปต้มเคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบตอนอุ่นๆ หรือใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ในกรณีที่ต้องการใช้ ขับเสมหะ คั้นน้ำขิงสดประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง 30 กรัม อุ่นให้ ร้อนก่อนดื่ม ส่วนในรายที่ไอเรื้อรัง ใช้น้ำผึ้งประมาณ 500 กรัม น้ำคั้นจากเหง้าสดประมาณ 1 ลิตรนำมาผสมกันแล้วเคี่ยวในกระทะทองเหลือง (ถ้าไม่มีอาจใช้กระทะสแตนเลสที่ทนกรดทนด่างได้ แต่ ไม่ควรใช้กระทะเหล็ก) จนน้ำระเหยไปหมดจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดลูกพุทราจีน ให้อมกินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
ทาปวดข้อ ใช้น้ำคั้นจากเหง้าสด ผสมกาวหนังวัว เคี่ยวให้ข้น นำไป พอกบริเวณที่ปวด หรือใช้เหง้าสดย่างไปตำ ผสมน้ำมัน มะพร้าวใช้ทาบริเวณที่ปวด
แก้คลื่นไส้ อาเจียน ขิงสด ๓๐ กรัมสับให้ละเอียด ต้มดื่มขณะท้องว่าง ใช้ขิงแก่สด หรือแห้ง ขิงสดขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ถ้าแห้ง 5-7 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม นำขิงสด 3 หัว หัวโตยาวประมาณ 5 นิ้ว ใส่น้ำ 1 แก้ว ต้มจนเหลือ 1/2 แก้ว (ประมาณ 15-20 นาที หลังจากเดือดแล้ว) รินเอาน้ำดื่ม
แก้ปวดประจำเดือน ขิงแห้ง 30 กรัม น้ำตาลอ้อย (หรือน้ำตาลทรายแดง) 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม
เด็กเป็นหวัดเย็น เอาขิงสดและรากฝอยต้นหอมตำรวมกัน เอาผ้าห่อคั้นเอา แต่น้ำทาที่คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าอก และหลังของเด็ก
ผมร่วงหัวล้าน ใช้เหง้าสด นำไปผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ 2 ครั้ง สัก 3 วัน ถ้าเห็นว่า ดีขึ้นอาจจะใช้พอกต่อไปจน กว่าผมจะขึ้น
ยาขมเจริญอาหาร ใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลี ถ้าผงแห้งใช้ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 0.6 กรัม ผงขิงแห้งชงกับน้ำดื่ม เหง้าสดต้มน้ำ หรือปรุงอาหาร เช่น ผัด หรือรับประทานสดๆ เช่น กับลาบ แหนม และอื่นๆ
ลดความดันโลหิต ใช้ขิงสดเอามาฝานต้มกับน้ำรับประทาน
 

ลักษณะทั่วไปขิง

• เหง้า/ลำต้นใต้ดิน ขิงเป็นพืชในกลุ่มเดียวกันกับข่า และขมิ้น มีลำต้นขึ้นแน่นเป็นกอ โดยมีลำต้นแท้ที่เป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ซึ่งมักเรียก แง่งขิงหรือหัวขิง (Rhizome) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้นำมาบริโภค และใช้ประโยชน์มากที่สุด หัวขิงมีลักษณะเป็นแท่งสั้น แตกแขนงออกเป็นแง่งย่อย เปลือกของแง่งหรือหัวมีสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อนตามสายพันธุ์ มีแผ่นเปลือกนอกหุ้มเป็นแผ่นสีน้ำตาลแกมเหลือง และมีรากฝอยแตกออกจากแง่ง เนื้อด้านในมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ ส่วนลำต้นเทียมที่โผล่เหนือดินจะประกอบด้วยแกนลำที่มีลักษณะเป็นปล้อง ถูกหุ้มด้วยกาบใบเรียงตามความสูง
• ใบขิง และลำต้นเทียม ใบ และกาบใบเป็นส่วนหนึ่งของลำต้นเทียมที่แทงออกจากเหง้าหรือลำต้นใต้ดิน สูงจากพื้นดินประมาณ 0.30-1 เมตร ประกอบด้วยแก่น กาบใบ และใบ ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ใบมีสีเขียวเข้ม มีขนเล็กๆ ขึ้นตามใบ ใบส่วนยอดชันตั้งตรง ใบล่างโค้งพับลงด้านล่าง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมม้วนงอ กว้างxยาว ประมาณ 1.8-4 x 15-20 เซนติเมตร มีเส้นกลางใบมองเห็นอย่างชัดเจน
• ดอกขิง ขิงออกดอกเป็นช่อ แต่เป็นพืชที่ไม่ค่อยออกดอกหรือติดเมล็ด แต่พบการออกดอกบ้างในบางพันธุ์ และสภาพแวดล้อมที่ปลูก ช่อดอกออกตรงใจกลางของเหง้า มีก้านช่อยาว 10-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก และกลีบดอกจำนวนมาก กลีบดอกยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีเหลืองแกมเขียว เมื่อดอกบานมีสีแดงสดสวยงาม
ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่เราสามารถปลูกขิงได้เอง มีขิงใช้ทั้งปี เป็นได้ทั้งอาหารเป็นได้ทั้งยา ยิ่งใกล้หนาวขิงดูเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอมีความต้านทานต่ออากาศเย็นได้น้อย เดี๋ยวจะพลอยเป็นหวัด ไม่สบายไปในหน้าหนาว หรือคนที่มีโรคหอบหืดประจำตัวหน้าหนาวก็มักจะมีอาการกำเริบมากขึ้น นอกจากนี้ใช้เป็นอาหารและใช้ในการปรุงกลิ่นแล้ว


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

1. หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในทางการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน
2. การต้มน้ำขิงด้วยความร้อนจะทำให้สาระสำคัญบางอย่างที่ออกฤทธิ์รักษาอาการปวดข้อสลายตัวไปได้
3. ถ้าใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากๆ แทนที่จะช่วยแก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด จะมีฤทธิ์ตรงข้ามคือไประงับการบีบตัวของลำไส้จนอาจถึงกับหยุดบีบตัวไปเลย
4. เคล็ดลับในการต้มน้ำขิงให้หอมอร่อย คือ ให้ใช้เวลาต้มสั้นๆ ไม่เกิน 2 - 5 นาที เพราะกลิ่นของขิงจะหายไปหมดหากตั้งไฟนาน
5. คนที่เป็น" หวัดเย็น " คือ รู้สึกหนาว มีไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ เสมหะเหลวใส ลองดื่มน้ำขิงต้มร้อนควันฉุย จะช่วยให้อาการดีขึ้น
6. คนที่เป็น" หวัดร้อน " คือ มีอาการปวดหัว ตัวร้อน เหงื่อออก คอแห้ง เจ็บคอ เสมหะเหนียวข้น สีออกเหลืองนั้น ขิงไม่เพียงช่วยไม่ได้ แต่ยังอาจทำให้อาการทรุดลงด้วย
7. การกินให้ปลอดภัย ควรซื้อแบบเป็นแง่งจะดีกว่าแบบซอยมาให้แล้ว เพราะเสี่ยงกับการได้รับสารฟอกขาวจำพวกซัลไฟต์ แต่ถ้าจำเป็นให้เลือกซื้อ ขิงซอยที่มีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย จะปลอดภัยกว่าสีขาวซีดหรือเหลืองจัด
8. ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี ถ้าหากจะใช้ขิงจึงควรระมัดระวังในการใช้และอยู่ในความดูแลของแพทย์
9. การใช้ขิงในขนาดสูง อาจเพิ่มฤทธิ์การรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ควรระมัดระวังการ กินขิง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
10. การกินขิงในขนาดสูง อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากฤทธิ์การกดประสาทส่วนกลางของขิง
11. ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร


สูตรการทำน้ำขิง
ส่วนผสม น้ำขิง

  • ขิงแก่ทุบพอแหลก 1/2 กิโลรัม
  • น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง (ปริมาณตามชอบ)
  • น้ำตาลทรายแดง 1 ถ้วยตวง (ปริมาณตามชอบ)
  • น้ำเปล่า 3,000 ml 

วิธีทำ น้ำขิง

1. ตัดส่วนที่สกปรกของขิงออก แล้วล้างในน้ำสะอาดหลายๆ รอบ ให้สะอาดทุกส่วน

2. นำขิงมาห่อด้วยผ้าขาวบาง แล้วทุบขิงด้วยสากให้พอแตก เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยของขิงออกมา

3. ต้มน้ำให้เดือด แล้วนำขิงลงไปต้ม ประมาณ 20 นาที

4. เติมน้ำตาลลงไปในหม้อ ปริมาณตามความหวานที่ชอบ คนให้น้ำตาลละลาย ต้มน้ำให้เดือด จากนั้นปิดเตา และปิดฝาหม้อทิ้งไว้ 30-60 นาที

5. นำน้ำขิงมากรองแล้ว ใส่ขวดหรือภาชนะที่ใช้เก็บไว้ดื่ม


แหล่งอ้างอิงและภาพประกอบ : เว็บไซต์ https://www.disthai.com/16488302

 



เข้าชม : 298


สมุนไพรน่ารู้ 5 อันดับล่าสุด

      มะตูม 12 / ธ.ค. / 2566
      กระเจี๊ยบแดง 10 / ธ.ค. / 2566
      เก๊กฮวย 10 / ธ.ค. / 2566
      อัญชัน 10 / ธ.ค. / 2566
      มะขามป้อม 10 / ธ.ค. / 2566