เนื้อหา : สาระน่ารู้การพัฒนาอาชีพ
หมวดหมู่ : สมุนไพรน่ารู้
หัวข้อเรื่อง : ข่า

อาทิตย์ ที่ 10 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2566

คะแนน vote : 38  

 

ข่า

ชื่อสมุนไพร  ข่าหยวก  ข่าหลวง (ภาคเหนือ) กฎุกกโรหิณี (ภาคกลาง) เชียงง่าว (ปะหล่อง) สะเอเชย (กะเหรี่ยง) หัวข่า(ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อสามัญ Galanga , False galangal 
วงศ์ Zingeberaceae

 

ถิ่นกำเนิดข่า

สำหรับข่า เป็นพืชพื้นเมืองของไทยอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทุกภาคของประเทศโดยมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเขตร้อนในเอเชีย สามารถพบได้ตามประเทศ ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไทย ซึ่งคนไทยนิยมใช้ข่ามาตั้งแต่อดีตแล้ว โดยการนำมาประกอบอาหารและยังใช้เป็นสมุนไพรอีกด้วย
 

ข่าชนิดอื่นที่พบในประเทศไทยในปัจจุบัน

ข่าเล็ก เป็นข่าพื้นเมืองของเกาะไหหลำ พบปลูกในบางพื้นที่ของภาคใต้ ลำต้นมีขนาดเล็ก เหง้าข่ามีสีน้ำตาลปนแดง เนื้อเหง้าข่ามีสีเหลือง มีกลิ่นฉุน และรสเผ็ดร้อนมาก นิยมมาประกอบอาหารบ้าง แต่ส่วนมากใช้ประโยชน์ทางยา โดยพบน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.3-1.5% พบสารประกอบฟีนอล 4 ชนิด คือ trans-p-Coumaryl diacetate, 4-Hydroxycinnamoylaldehyde, 1´-Acetoxychavicol acetate และ β–Sitosterol

ข่าป่า เป็นข่าที่พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น มีลักษณะลำต้นสูง ลำต้น และใบคล้ายกับข่าที่ปลูกทั่วไป หัวมีกลิ่นฉุนน้อย
ข่าลิง (ข่าน้อย) มีลักษณะลำต้นเล็ก มีสารประกอบฟีนอลหลายชนิด เช่น 1, 7-diphenyl-3,5-heptanedione, flavonoids, diarylheptanoids และ phenylpropanoids
ข่าคม มีลักษณะใบมน มีขนละเอียดสีขาวปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกมีใบประดับ กลีบดอกสีขาว แผ่เป็นแผ่น และมีแถบสีเหลืองส้มบริเวณกลางกลีบดอก
ข่าน้ำ (เร่ว, กะลา) เป็น
ข่าพื้นบ้านที่ปลูกเพื่อจำหน่ายของ อ.ปากเกร็ด จ. นนทบุรี เหง้ามีรสจืดกว่าข่า ช่อดอกสีชมพู
 

ประโยชน์และสรรพคุณข่า

  • เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ
  • เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ
  • ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียด
  • แก้โรคปวดข้อ และโรคหลอดลมอักเสบ
  • ขับน้ำคาวปลา ขับรก
  • ใช้ภายนอกทารักษากลากเกลื้อน แก้ไฟลวด แก้น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วงแก้สันนิบาตหน้าเพลิง
  • รักษาโรคกลากเกลื้อน 
  • ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • ต้านเชื้อวัณโรค ต้านภูมิแพ้ และต้านอนุมูลอิสระ
  • แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ช่วยแก้ตะคริวและเหน็บชา  

               นอกจากนี้ ข่าเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมากมาย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลืองและแกงกอและทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า แต่ใช้ข่าในการดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา ในส่วนต่างๆของข่ายังสามารถนำมาทำอาหารได้อีกเช่น
          ช่อดอก  ลวกหรือกินสดกับน้ำพริก, ลำต้นใต้ดิน ใส่แกง(ไทใหญ่)
รับประทานเป็นเครื่องเคียงกับแกงอ่อมหรือ อาหารคาวต่างๆ(เมี่ยน)

          เหง้า  ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ เช่น น้ำพริก แกง ยำ, ช่อดอกอ่อน
รับประทานสดหรือนำไปย่างไฟ อ่อนๆ กินกับน้ำพริก(คนเมือง,กะเหรี่ยงเชียงใหม่)นำไปใส่แกงและน้ำพริก(กะเหรี่ยงแดง)เป็นเครื่องเทศ นำไปเป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ(ลั้วะ,กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)ใช้ประกอบอาหารเช่น ใส่แกง ลาบ,
          ดอก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก(ปะหล่อง)ดอก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใช้ใส่แกงแค, หัวใต้ดิน เป็นเครื่องเทศสำหรับอาหาร ประเภทต่างๆ(ขมุ)
 
หน่อข่าอ่อน เป็นหน่อของข่าที่เพิ่งจะแทงยอดออกมาจากลำต้นใต้ดิน ถ้าอายุประมาณ 3 เดือนเรียกหน่อข่า ถ้าอายุ 6-8 เดือนเรียกข่าอ่อน ถ้าอายุมากกว่า 1 ปีจัดเป็นข่าแก่ หน่อข่าอ่อนทั้งสดและลวกใช้จิ้มหลนและน้ำพริก นำมายำ และยังมีการใช้ประโยชน์จากข่าด้านอื่นๆอีกเช่น น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง 

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

วิธีและปริมาณที่ใช้ : 

  1. รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง
    ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
  2. รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
  3. รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย

          เหง้าแก่สดหรือแห้ง ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ให้ใช้ประมาณเท่าหัวแม่มือ ใช้สดประมาณ 5 กรัม และแห้งประมาณ 2 กรัม นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่ม
เหง้าสด ใช้รักษาเกลื้อน นำเหง้าสดมาฝนผสมกับเหล้าโรงหรือน้ำส้มสายชู หรือตำแล้วนำมาแช่แอลกอฮอล์ ใช้ทาที่เป็น
ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) 

  • ใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด
    ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม
    ใช้หัวข่าตำละเอียดผสมน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม 
  • ใช้ข่ารักษากลาก เกลื้อน
    ใช้เหง้าข่าปอกเปลือก จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาแรงๆ ทำเช่นนี้ 4-5 วัน ก็จะหาย
    ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูบริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดงและแสบ แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทาเฉพาะบริเวณที่เป็นเกลื้อน จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้าและเย็นหลังอาบน้ำทุกวัน ประมาณ 2สัปดาห์ เกลื้อนจะจางลง และหายไปในที่สุด
    ใช้เหง้าข่าล้างให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปแช่เหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 5 นาที แล้วทาที่มีผื่นคัน อาการจะหายไป และถ้าแช่ค้างคืนจะใช้รักษาเกลื้อนได้ดี
    ใช้เหง้าข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาวันละครั้ง
    ใช้เหง้าข่าแก่ๆ นำมาตำพอแหลก แล้วผสมเหล้าหรืออัลกอฮอล์ แช่ไว้ 1 คืน ใช้ทาแก้เกลื้อน หรือกลาก

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากข่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้มาตั้งแต่โบราณมาแล้ว อีกทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารที่ใช้รับประทานในชีวิตประจำวันหลายๆเมนู ดังนี้ จึงไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงในการรับประทานข่า

 แต่อาจจะมีข้อควรระวังในอาการข้างเคียงอยู่บ้าง ในกรณีการใช้ข่าเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ทาทางผิวหนัง เนื่องจากบางคนอาจจะแพ้ข่า โดยอาการที่พบก็คือเมื่อใช้ข่าทาตรงบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังแล้ว อาจจะมีอาการแสบร้อนมากก็ควรหยุดใช้ในทันที

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์ https://www.disthai.com/16657359

ภาพประกอบ : https://www.istockphoto.com/th




เข้าชม : 140


สมุนไพรน่ารู้ 5 อันดับล่าสุด

      มะตูม 12 / ธ.ค. / 2566
      กระเจี๊ยบแดง 10 / ธ.ค. / 2566
      เก๊กฮวย 10 / ธ.ค. / 2566
      อัญชัน 10 / ธ.ค. / 2566
      มะขามป้อม 10 / ธ.ค. / 2566