เครื่องเทศ
เครื่องเทศ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเซีย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาช้านาน โดยเป็นสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ที่ก่อให้เกิดการแสวงหา และการครอบครองแหล่งผลิตเครื่องเทศ ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของเครื่องเทศ คือ ของหอมฉุน และเผ็ดร้อนที่ได้จากต้นไม้ สำหรับใช้ทำยาและปรุงอาหาร แต่ในทางสากลคำว่า "Spices" หมายถึง ส่วนของพืชไม่ว่าจะเป็นชิ้น หรือบดเป็นผงซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดกลิ่นรสเผ็ด ร้อนขึ้นในอาหารหรือเครื่องดื่มทำให้เกิดความรู้สึกน่ารับประทานและรสชาติดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีคำว่า Condiments ซึ่งหมายถึง เครื่องเทศที่ใช้ใส่หรือโรยอาหารที่ปรุงสุกแล้ว และ Seasonings หมายถึงเครื่องเทศที่ใช้ใส่ในอาหารขณะที่ปรุง
เครื่องเทศหลายชนิดที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งต้องมีการนำเข้าต่างประเทศ จึงเรียกกันว่า เครื่องเทศ เช่น ลูกผักชี ยี่หร่า กระวานเทศ กานพลู ดอกจันทร์ พืชเครื่องเทศที่เป็นพืชพื้นบ้านได้แก่ มะแข่น มะแหล็บ ตะไคร็ ข่า กะเพรา ใบมะกรูด เป็นต้น
ปัจจุบันเครื่องเทศเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตและการค้า หลายชนิดสามารถเพาะปลูกได้ดีในประเทศ และสามารถส่งออก ตลอดจนทดแทนการนำเข้ามาใช้ในประเทศได้
เครื่องเทศมีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวเนื่องจากส่วนต่างๆ ของเครื่องเทศที่เรานำมาใช้ประโยชน์มีองค์ประกอบทางเคมีแตกต่าง กันไป องค์ประกอบทางเคมีเหล่านี้มีสรรพคุณทางยารักษาโรค อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง เช่น สาร Vanillin ในผลวานิลา ใช้ในการแต่งกลิ่น น้ำหอม ผงซักหอก บุหรี่ ไอศครีม เค้ก คัสตาร์ด ชอคโกแลต
- สาร Allicin ในกระเทียม ช่วยการดูดซึมอาหารที่ลำไส้ ลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด
- สาร Piperin ผลพริกไทย สารให้รส เผ็ดร้อน ใช้เป็นยาแก้อาการชัก
- สาร Capsaicin ในผลพริก ให้รสเผ็ดร้อนเป็นส่วนประกอบของยา เช่น ยาธาตุ ยาขับลม ยาแก้ปวดท้อง ผสมให้ขี้ผึ้งทาถูกนวดแก้อาการปวดเมื่อย
- สาร Gingerol ในขิง มีกลิ่นฉุนรสเผ็ดนำมาใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
พืชเครื่องเทศยังเป็นพืชที่มีน้ำหอมระเหย (Aromatic Plant) น้ำมันหอมระเหยเป็นไขมันที่มีจุดเดือดต่ำระเหยได้ที่อุณหภูมิห้อง จึงเป็นส่วนสำคัญในการนำพาสารให้กลิ่นจากเครื่องเทศไปทำให้เราได้กลิ่นหอมของเครื่องเทศ พืชเครื่องเทศมีน้ำมันหอมระเหยมากได้แก่ ตะไคร้ กานพลู จันทน์เทศ มะกรูด พริกไทยขาว โหระพา เป็นต้น
กลิ่นและรสชาติของเครื่องเทศก่อให้เกิดอาหารที่หลากหลาย สีสันที่เร้าใจ ถนอมอาหารให้คงอยู่ได้นาน แม้ไม่ได้คุณค่าทาง โภชนาการเต็มที่เพราะเราบริโภคเครื่องเทศปริมาณน้อย แต่ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีคุณค่าทางยาซึ่งเป็นภูมิปัญญา แต่โบราณ เครื่องเทศทุกชนิดเป็นยา ซึ่งหมายถึงเครื่องเทศที่ผสมในอาหารช่วยป้องกันโรคอันเกิดจาก การรับประทานอาหารนั้นด้วย
เครื่องเทศสามารถแบ่งได้หลายชนิด แล้วแต่เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง
จำแนกเครื่องเทศตามแหล่งปลูก
-เครื่องเทศในเขตอบอุ่น (Temperate spices) ได้แก่ ออริกาโน เบย์ กระเทียม
-เครื่องเทศในเขตร้อน (Tropical spices) ได้แก่ อบเชย ลูกจันทร์ พริกไทย กระวาน ขิง กะเพรา ตะไคร้
จำแนกเครื่องเทศตามลักษณะการเจริญเติบโต
-ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ (Small evergreen) ได้แก่ กานพลู จันทร์เทศ อบเชย
-ไม้เถาอายุยืน (Perennial herbaceous) ได้แก่ พริกไทย วานิลา
-ไม้หัวอายุยืน (Pernnial herbs rhizomatous) ได้แก่ ข่า ขมิ้น กระวาน
-ไม้ฤดูเดียว (Annual herbs) ได้แก่ พริก ผักชี ยี่หร่า
เข้าชม : 2325
|