[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

เนื้อหา : สาระน่ารู้พัฒนาทักษะชีวิต
หมวดหมู่ : ศูนย์การเรียนชุมชน
หัวข้อเรื่อง : แหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม

จันทร์ ที่ 31 เดือน มีนาคม พ.ศ.2551



ประวัติความเป็นมา วัดพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง หรือวัดพระธาตุดอยเกิ้ง
วัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอดอยเต่า และอำเภอใกล้เคียง
" วัดพระธาตุดอยเกิ้ง ตั้งอยู่ ต.ท่าเดื่อ อ.ดอยเต่า มีพระบรมธาตุเป็นปูชนียสถานสำคัญ ตำนานต่างๆ เช่น ตำนานสิงหวัตร ตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก และตำนานใบลานเก่าระบุว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกสาธาตุ และพระธาตุพระนลาฏเบื้องซ้าย(หน้าผาก) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สันนิษฐานว่าพระบรมธาตุสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี พ.ศ. 1200 เมื่อเสด็จขึ้นมาทางเรือผ่านดอยเกิ้ง ต่อมา พ.ศ. 2463-64 ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้นำพาศรัทธาประชาชนขึ้นไปบูรณะพระธาตุเจ้าดอยเกิ้ง ตามสถาปัตยกรรมลานนาผสมพม่า แบบย่อมุมผสมผสานทรงระฆัง โดยฐานทั้งหมดของพระธาตุเป็นรูปเรือ
ในสมัยนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจเยี่ยมราชการภาคพายัพ ได้เสด็จขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยเกิ้ง ครูบาศรีวิชัยได้มอบพระพุทธรูปที่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงขุดได้ถวาย (ปัจจุบันพระพุทธรูปเป็นสมบัติของแผ่นดินอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) "
ในวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆะบูชา จะมีพิธีสรงน้ำพระธาตุ ทุกปี และจัดงานสืบสานประเพณีสรงน้ำและไหว้สาป๋าระมีพระบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้งขึ้น โดยตอนเช้าบวงสรวงเทพาอารักษ์ ทำบุญตักบาตร ถวายทานขันข้าว ส่วนภาคค่ำ มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ฟังเทศนาธรรมบนดอยเรือ และบนวัดพระธาตุดอยเกิ้ง บางปีมีจัดงานใหญ่ทั้งบนดอยเกิ้ง และทะเลสาบดอยเต่า


ค้นพบรอยพระพุทธบาท วัดพระมหาบรมธาตุดอยเกิ้ง โดยพระอาจารย์บุญศรี  อภิปุณโณ



 

พระบาทตะเมาะ
ตั้งอยู่ หมู่ที่ 9 ตำบลโปงทุ่ง อำเภอดอยเต่าจังหวัดเชียงใหม่


 

ประวัติความเป็นมา โดยสังเขป
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เล่าให้ฟังว่า วัดพระพุทธบาทตะเมาะ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาลเพราะเป็นสถานที่ ที่พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์แห่งกัปนี้ คือพระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคม พระพุทธเจ้ากัสสปะ และพระพุทธเจ้าสมณโคดม เคยเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ นอกจากนั้นยังมีพุทธสาวกอีกหลายองค์มาปฏิบัติธรรมและบรรลุธรรม ณ สถานที่แห่งนี้
ภายในวัดยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง เช่นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ แท่นหินที่พระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ประทับไสยาสน์
รอยพระบาทของพระสาวกซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ รอยพระบาทของพระฤๅษีที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ฯลฯ
ที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะแห่งนี้ เคยเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระฤๅษี ๒ องค์ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ สถานที่นิพพานของท่านอยู่บนแท่นหินภายในวัด พระสรีระของท่านทั้งสองยังไม่ได้ประชุมเพลิง

 

พระอินทร์ได้อัญเชิญพระสรีระขององค์หนึ่งไปไว้บนยอดเขาตะเมาะ ส่วนอีกองค์หนึ่งไว้ที่ยอดเขาดอยเกิ้งเพื่อรอพระศรีอริยะเมตไตรยมาประชุม เพลิงด้วยพระองค์เอง บารมีของท่านทั้งสองยังคุ้มครองสถานที่แห่งนี้ ให้ผู้มุ่งหวังปฏิบัติธรรมได้รับความสงบสุข(ชาวบ้านมักเห็นแสงไฟดวงกลมวิ่ง ไปมาระหว่างยอดเขาทั้งสองเสมอ)
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ครูบาชัยยะวงศาได้พาคณะศิษย์ไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ซึ่งขณะนั้นมีพระชาวต่างชาติมาจำพรรษาอยู่ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ และจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๗ รวมเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ๓๓ ปี คำว่า “ตะเมาะ” นั้น เป็นคำพูดที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เต่าหมอบ” เพราะที่วัดมีก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายเต่าหมอบอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพูดคำว่าเต่าหมอบ นานเข้าจึงเพี้ยนเป็น ตะเมาะ
ครูบาชัยยะวงศาได้บูรณะสถานที่สำคัญหลายแห่งภายในวัด เช่น มณฑป ๙ ยอดครอบรอยพระพุทธบาท ฯลฯ และครูบาชัยยะวงศาได้มาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีก่อสร้างเป็นเวลา ๕ ปี สิ่งก่อสร้างที่เหลือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกอย่างก็คือ กำแพงซึ่งทำจากหินล้วน ไม่มีการใช้ปูนแต่อย่างใด กำแพงหินดังกล่าวเป็นแนวยาว ๒ ชั้น แต่ละชั้นยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร
นอกจากแนวกำแพงหินแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ครูบาชัยยะวงศายังได้สร้างมณฑปไม้ไว้ด้วย มณฑปนี้เป็นรูปทรงล้านนา และทำจากไม้ทั้งหลัง ซึ่งปัจจุบันจะหาช่างทำได้ยาก เพราะมณฑปทั้งหลัง ใช้การเข้าลิ่มสลักด้วยไม้ทั้งสิ้น จะใช้น็อตเหล็กยึดเพียงไม่กี่ตัว ครูบาชัยยะวงศาเล่าให้ฟังว่า มณฑปนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ล้ำค่าสำหรับท่าน เพราะต้องผจญกับอุปสรรคต่าง ๆ นานับประการ เนื่องจากเขตวัดพระพุทธบาทตะเมาะขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้นทางการจังหวัดเชียงใหม่เข้มงวดเรื่องป่าไม้มาก แม้จะนำมาสร้างเป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นการลำบาก
ในระหว่างที่ครูบาชัยยะวงศามาทำการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะอยู่นั้น ท่านต้องพักผ่อนจำวัดอยู่ที่ห้วยน้ำอุ่น(ปัจจุบันเป็นวัดห้วยน้ำอุ่น มีครูบาบุญยังเป็นเจ้าอาวาส) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ห่างจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ๕ กิโลเมตร กิจวัตรประจำวันของท่านคือ ตื่นนอนเวลา ๐๔.๐๐ น. สวดมนต์ทำวัตรจนถึง ๐๕.๐๐ น. แล้วเดินจากวัดห้วยน้ำอุ่นไปวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ฉันภัตตาหารที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ จากนั้นจึงนำคณะศรัทธาก่อสร้าง โดยท่านเป็นผู้ควบคุมเอง ในช่วงเที่ยงวันคณะศรัทธาจะพักรับประทานอาหาร ขณะนั้นครูบาชัยยะวงศาฉันมื้อเดียว จึงใช้เวลาที่คณะศรัทธาพักรับประทานอาหารนี้ ไปก่อหินถนนระหว่างวัดห้วยน้ำอุ่นกับวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ซึ่งคณะศรัทธาอีกคณะหนึ่ง ได้นำหินมากองเรียงไว้ เมื่อถึงเวลาช่วงบ่าย ครูบาชัยยะวงศาจะกลับมาควบคุมการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะต่อไป จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน ไม่สามารถมองเห็นลายมือแล้ว จึงเดินทางกลับไปพักที่วัดห้วยน้ำอุ่น ระหว่างเดินทางกลับ ก็ช่วยกันยกหินที่คณะศรัทธาอีกคณะหนึ่งเรียงกองไว้ นำมาทำถนนระหว่างทางไปเรื่อย ๆ ท่านจะกลับวัดห้วยน้ำอุ่นประมาณ ๒๒.๐๐–๒๓.๐๐ น. ทุกวัน จากนั้นได้สรงน้ำ สวดมนต์ ไหว้พระ เจริญกรรมฐาน และจำวัดประมาณ ๒๔.๐๐ น. ตื่นนอนเวลา ๐๔.๐๐ น. ใช้เวลา ๓ เดือนจึงก่อสร้างแล้วเสร็จ นับเป็นความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง
เหตุที่ครูบาชัยยะวงศาไม่สามารถจำวัดและให้คณะศรัทธาพักที่ วัดพระพุทธบาทตะเมาะได้ เนื่องจากขณะนั้นครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของจังหวัดเชียงใหม่มีความเข้มงวด ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ศิษย์ของครูบาอภิชัยขาวปีเกิดมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของบ้านเมือง จนกระทั่งพระปันถูกจับสึกให้นุ่งห่มขาว (ครูบาขาวคำปัน) เป็นเหตุให้ครูบาอภิชัยขาวปี ต้องย้ายจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะไปอยู่วัดพระธาตุห้าดวง และ วัดพระพุทธบาทผาหนาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเมื่อสร้างมณฑปเสร็จแล้ว ก็ทำการฉลองกันอย่างรีบเร่ง เมื่อฉลองเสร็จครูบาชัยยะวงศาก็ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีไปพำนักยังสถานที่ อื่นเพื่อสร้างบารมีต่อไป
หลังจากเหตุการณ์สงบลงแล้ว คณะศรัทธาเคยอาราธนานิมนต์ให้ครูบาอภิชัยขาวปีกลับไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ แต่ท่านก็ไม่รับนิมนต์ และบอกว่า “อีกหน่อยจะมีตุ๊ใต้มาอยู่กันเป๊อะเรอะ” (พระภาคใต้มาอยู่กันมาก ภาคใต้ตามความหมายของคนเหนือคือ นับจากภาคกลางของประเทศไทยลงไปเป็นภาคใต้ทั้งหมด) ส่วนครูบาชัยยะวงศาท่านบอกว่า “ถ้าไม่ได้มาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ก็จะมาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะแห่งนี้”
ในอดีต วัดพระพุทธบาทตะเมาะเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยเฉพาะสมัยครูบาอภิชัยขาวปีได้มาจำพรรษา มีคณะศรัทธาญาติโยมทั้งชาวไทยและชาวเขากระเหรี่ยง มาร่วมกันทำบุญเป็นจำนวนมาก มีการก่อวิหาร ที่พักของพระสงฆ์ และเสนาสนะอื่น ๆ ภายในวัด นอกจากนี้ ครูบาอภิชัยขาวปียังได้รับนิมนต์ไปก่อสร้างสาธารณประโยชน์ที่อื่นอีกมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ครูบาอภิชัยขาวปีไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอื่น ซึ่งภายหลังที่ท่านจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะไปแล้ว วัดก็ค่อย ๆ เสื่อมโทรมลงจนกลายเป็นวัดร้างในที่สุด
ปัจจุบันมีพระมหานภดล สิริวฑฺฒโน เป็นเจ้าอาวาสที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะได้ ๒๗ ปี ตอนนี้ทางวัดมีโครงการที่จะจัดทำสำนักปฏิบัติธรรมนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอยู่ ๒ รูป


 
 
 





เข้าชม : 4668


ศูนย์การเรียนชุมชน 5 อันดับล่าสุด

      แหล่งเรียนรู้ชุมชนอำเภอดอยเต่า 13 / มิ.ย. / 2551
      แหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม 31 / มี.ค. / 2551




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้ง ที่นี่ เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป