สืบเนื่องมาจากผม ได้เดินทางไปในทั่วถิ่นดินแดนแคว้นล้านนา (พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) ทำให้ได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางอย่างเกี่ยวกับ “ทหารเอก” ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านได้อยู่ต่างสถานที่กันออกไป แต่ละสถานที่เรียกนามท่านต่างกันออกไป แต่มีประวัติที่ใกล้เคียงกัน จนได้ทำการศึกษาจนสรุปได้ว่า “ท่าน” เป็นบุคคลคนเดียวกัน
ทหารเอกที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ได้พบใน 3 สถานที่ใน 3 จังหวัด คือ อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่แม่ฮ่องสอนพบท่านประดิษฐานอยู่ภายใน “ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” ที่จังหวัดลำปางประดิษฐานภายใน “ศาลเจ้าพ่อประตูผา” และจังหวัดเชียงใหม่ประดิษฐานอยู่ที่ “อุทยานวีรกรรมเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”
ประวัติจากการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร บวกกับเรื่องเล่าเรื่องราวและการ “เข้าทรง” จากร่างทรงตามความเชื่อของคนท้องถิ่น ทำให้ผมสรุปได้ว่าทั้ง 3 บุคคลจาก 3 สถานที่คือบุคคลเดียวกันที่มีนามเรียกกันในภายหลังว่า “พระยาข้อมือเหล็ก” คำว่า “พระยา” หมายถึงยศทางทหาร ซึ่งท่านเป็นทหารเอกของเจ้าเมืองฝาง ที่มีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองหลวงเชียงใหม่ในขณะนั้น ส่วนคำว่า “ข้อมือเหล็ก” เรียกตามลักษณะการแต่งกายของท่านที่ใช้สองดาบเป็นอาวุธ โดยมีปลอกเหล็กหุ้มข้อมือเสมือนเป็นโล่ห์ป้องกันไว้ทั้งสองข้อมือ (ก็เหมือนชื่อพระยาพิชัยดาบหักนั้นแหละ ท่านนามสกุล “ดาบหัก” ที่ไหนล่ะ)
ตามตำนานเล่ากันว่า ในครั้งที่พม่ายกทัพเข้ามารุกรานแผ่นดินล้านนา ได้มีทหารเอกของเจ้าเมืองฝางท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญและชำนาญด้านการรบขั้นสูง ได้นำกำลังกองทัพเข้าต่อสู้กับทหารพม่าด้วยความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ สามารถมีชัยชนะต่อข้าศึกหลายต่อหลายครั้ง เป็นที่เลื่องลือไปทั่วถิ่นแดนล้านนา และเป็นที่หวาดหวั่นยำเกรงต่อทหารพม่า หากเอ่ยชื่อถึงทหารเอกท่านนี้ ทหารฝ่ายพม่าจะขนหัวลุกไม่กล้าเข้าร่วมศึกไปตามๆกัน จนเมื่อท่านสิ้นชีวิตลง ผู้คนเชื่อกันว่าดวงวิญญาณของท่านยังคงสถิตอยู่ที่เมืองฝาง เพื่อคอยปกป้องดูแลรักษาผืนแผ่นดินที่ท่านหวงแหนตลอดมา
ว่ากันว่าปลอกข้อมือเหล็กที่ท่านสวมใส่อยู่ มีที่มาจากเมื่อครั้งที่ “เจ้าหลวงคำแดง” ส่งไปรบกับพม่า ขณะสู้รบถูกจับตัวได้ถูกใส่ปลอกเหล็กที่ข้อมือและถูกจับเป็นเชลย จนกระทั่งกัดฟันสู้และสามารถหนีรอดกลับออกมาได้ ข้อมือเหล็กที่ติดมานั้นจึงกลายเป็นโล่ห์และเอกลักษณ์ของท่านเสมอมา
ทั้งชีวิตของท่านผ่านการสู้รบมามาก โดนเหล็กโดนดาบทิ่มแทงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่การรบครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นที่ช่องประตูผา (อำเภองาว จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) เป็นการรบกับทหารพม่านับร้อยเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน จนในที่สุดท่านถูกพม่ารุมถูกแทงตายในขณะยืน ท่านถอยหลังผิงผาหิน ณ ช่องประตูผา เพื่อยืนหยัดไม่ให้พม่าผ่านไปให้จงได้ ทหารพม่าเกรงกลัวเพราะคิดว่าท่านเป็นอมตะไม่มีวันตาย จึงพากันวิ่งหนีหางจุกตูด
ด้วยที่ตอนเป็นทหารอยู่นั้น ท่านเป็นผู้มีจิตใจมุ่งมั่นในการรบ มีความรักหวงแหนบ้านเมือง จึงทำให้จิตกังวลอยู่เช่นนี้เรื่อยมา ดังนั้นจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิดยังคงเป็นวิญญาณสถิตอยู่ ณ สถานที่ต่างๆ บนแผ่นดินล้านนาดังกล่าว