เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : ข่าวเด่น
หัวข้อเรื่อง : 5 กลุ่มโรคฮิตที่มากับหน้าฝน

พุธ ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2563


 

5 กลุ่มโรคฮิตที่มากับหน้าฝน

 
 

 
          ในช่วงฤดูฝน อากาศจะเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูง เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและสัตว์บางชนิดที่เป็นพาหะนำโรค เช่น ยุงลาย แมลงวัน เป็นต้น ทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมามากมาย และที่ สำคัญในช่วงฤดูฝนนี้มีปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้สัตว์จำพวก งู ตะขาบ และสัตว์มีพิษอื่นๆ หนีน้ำท่วมไปซุกอยู่ตาม ผ้าห่ม ที่นอน หรือ รองเท้า

1. กลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ
  • ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ และ โรคปอดบวม สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงกะทันหันทำให้ติด เชื้อโรค ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ หรือ ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอจาม ออกมาได้ง่าย กลุ่มที่ควรระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ และ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากหากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดบวมจะเป็นอันตรายมาถึง ชีวิตได้ ซึ่งต้องสังเกตอาการหากมี ไข้ ไอ จาม หายใจเร็ว หรือ หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์
  • การป้องกัน
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสัมผัสแสงแดดยามเช้า เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ไข่ นม ผัก และ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
    • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลแกฮอล์ ไม่เที่ยวไปในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
    • ไอ หรือ จาม ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือ กระดาษทิชชู่ ปิดปาก

2. กลุ่มโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ

  • ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาเลเรีย โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา และ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดประมาณ 5 – 8 วัน จะมีอาการ ไข้สูงลอย (38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2 – 7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา บางรายมีอาการ ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขนขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหล และ เลือดออกตามไรฟัน อาการ ทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่จะไม่มีน้ำมูก ในรายที่มีอาการรุนแรง เมื่อไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะเกิดภาวะช็อค ซึมลง กระสับ กระส่าย กระหายน้ำ เหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยน บางรายมีอาการปวดท้องกะทันหัน เพราะ อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เนื่องจากผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12 – 24 ชั่วโมง
  • การป้องกัน
    วิธีที่ดีที่สุด คือ การควบคุมการแพร่กระจายของยุงลาย โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น หาฝาปิดภาชนะอย่าง โอ่ง ถังน้ำ และ เลี้ยงปลาเพื่อกินลูกน้ำในแหล่งสาธารณะ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถป้องกันการเกิดไข้เลือดออกได้ 65% ลดการนอนโรงพยาบาล 80% และลดอาการ รุนแรงจากไข้เลือดออก 92%

3. กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

  • ได้แก่ โรคอหิวาตกโรค และ โรคไวรัสตับอักเสบเอ สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมทั้ง เกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การประกอบอาหารที่ใช้น้ำคลองที่ไม่สะอาด หรือ น้ำที่ไม่ผ่านการบำบัด ซึ่งอาจมี เชื้อโรคที่ปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะของคน หรือ สัตว์
  • การป้องกัน
    • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือ รับประทานอาหาร และ ภายหลังจากการใช้ห้องน้ำ
    • รับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือ อาหารที่มีแมลงวันตอม
    • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไว้นาน
    • ดื่มสะอาด หรือ น้ำต้มสุก

4. กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผล หรือ เยื่อบุผิวผนัง

  • ได้แก่ โรคมือเท้าปาก และ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียอยู่ในฉี่หนู หรือ สัตว์เลี้ยง จะปะปนอยู่ในน้ำ และ สิ่งแวดล้อมดินโคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ เมื่อคนเดินย่ำน้ำ หรือ เล่นน้ำนานๆ เชื้อโรคจะไชเข้าสู่ร่างกาย ผ่านทางผิวหนังที่หย่นๆ และ อ่อนนุ่ม รอยถลอก หรือ บาดแผล ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2 – 29 วัน อาการที่พบ คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่ น่อง และ โคนขา ตาแดง คอแข็ง อาจมีผื่นที่เพดานปาก หรือ มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง และ เยื่อบุ ระยะท้ายผู้ป่วยอาจมี ตับ และ ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนั้นเมื่อมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ อย่างรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะทิ้งไว้นานอาจเสียชีวิตได้
  • การป้องกัน
    • กำจัดหนู ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ ที่เป็นพาหะของโรคดังกล่าว
    • หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และ ไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น
    • รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว หากแช่หรือย่ำลงในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ


5. กลุ่มโรคที่เกิดจากภัยสุขภาพอื่นๆ

  • ได้แก่ อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น สาเหตุเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น น้ำสูงขึ้นจนท่วมขัง ทำให้ พื้นที่ที่สัตว์มีพิษจำพวก งู ตะขาบ และ แมงป่อง เคยอาศัยอยู่เดิมไม่สามารถอยู่ได้ จึงอพยพหนีปริมาณน้ำเข้ามายังพื้นที่อยู่อาศัย ของมนุษย์บ้านเรือน ตามสิ่งของต่างๆ เพื่อหาที่ซ่อนและความอบอุ่น
  • การป้องกัน
    • ปิดช่องต่างๆ ให้มิดชิด อย่างเช่น ช่องว่างใต้ประตู รูระบายน้ำในห้องน้ำ เป็นต้น
    • จัดเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่รกรุกรัง เพราะจะได้สังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่าย นอกจากนี้ต้องตัดแต่งสวนบริเวณบ้านให้ โปร่งโล่งอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้เป็นที่ซ่อนตัวของสัตว์ต่างๆ ได้
    • โรยปูนขาวบริเวณรอบๆ บ้าน ซึ่งปูนขาวมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อสัตว์เลื้อยคลานมาโดนก็จะหนีไปเอง

ที่มาข้อมูล : https://doctorplouk.com/archives/1147






เข้าชม : 2746


ข่าวเด่น 5 อันดับล่าสุด

      วันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 / พ.ย. / 2563
      วันตำรวจ 17 / ต.ค. / 2563
      วันนวัตกรรมแห่งชาติ 5 / ต.ค. / 2563
      วันสัตว์โลก World Animal Day 4 / ต.ค. / 2563
      5 กลุ่มโรคฮิตที่มากับหน้าฝน 19 / ส.ค. / 2563