3 เทคนิค ดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัวช่วงโควิด
หลายคนอาจมองว่า ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงเวลาดีที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่บ้านและใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ กลับสร้างสถิติอันน่ากลัว ปรากฎว่ามีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นและมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นด้วย
เมื่อวิเคราะห์ดู พบว่าความใกล้ชิดสนิทสนมที่มากเป็นพิเศษ อาจทำให้เราเผลอทำร้ายจิตใจกันง่ายขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าเรามักจะใส่ใจความรู้สึกของคนใกล้ตัวน้อยกว่าคนทั่วไปนั่นเอง จึงไม่แปลกที่หลายครอบครัวมักเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันมากขึ้นในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน
ในวันนี้ ยังแฮปปี้ จึงขอแนะนำ 3 เทคนิคดีๆ ในการสื่อสารและดูแลรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้กับพี่ๆ ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้าน เพื่อจะได้มีความเข้าใจคนในครอบครัวดีมากยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤตนี้
1.ใช้ I-Message แทน You-Message
I-Message คือการสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตัวเองโดยตรง หลีกเลี่ยงการพูดถึงผู้ฟัง ส่วน You-Message คือการกล่าวถึงการกระทำของคู่สนทนา ซึ่งการสื่อสารลักษณะนี้อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกตำหนิอยู่และนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการให้คนในครอบครัวเก็บกรรไกรเข้าที่ แทนที่จะพูดว่า ‘กะอีแค่เก็บกรรไกรให้เข้าที่ เรื่องง่ายๆ แบบนี้ทำไม่ได้หรือไง’ ลองเปลี่ยนเป็น ‘เก็บกรรไกรตรงนี้นะ จะได้หยิบง่ายๆ หลังใช้เสร็จช่วยเก็บเข้าที่เดิมด้วยนะจ๊ะ’ วิธีพูดแบบนี้จะช่วยให้ลดโอกาสในการปะทะอารมณ์กับคนในครอบครัวลงได้
2.หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดดูถูกซึ่งกันและกัน
ไม่มีใครชอบการโดนดูถูก แต่หลายครั้งที่เราเผลอพูดดูถูกคนใกล้ตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูดโดยไม่ให้เกียรติ ประชดประชัน หรือการแสดงสีหน้าท่าทางต่างๆ ที่สร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับคู่สนทนา ซึ่งการทำกิริยาแบบนี้บ่อยครั้ง อาจนำไปสู่ความร้าวฉานภายในครอบครัวได้
ในช่วงนี้ที่หลายคนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ถ้าบังเอิญเห็นลูกหลานนั่งนิ่งๆ อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ก็อย่าเพิ่งไปตัดสินและพูดกับพวกเขาว่า ‘วันๆ เอาแต่มองจอ ไม่รู้จักทำอะไรที่มีประโยชน์บ้างเลยหรือไง’ เพราะอันที่จริง พวกเขาอาจกำลังทำงานหรือเรียนออนไลน์อยู่ก็เป็นได้
3.ทำความเข้าใจ ชื่นชม และให้กำลังใจกัน
ในสถานการณ์ที่ต้องอยู่ร่วมกันในบ้านเป็นระยะเวลานานๆ การปรับตัวและความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนการกระทบกระทั่งกับสมาชิกในครอบครัวก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า คนเหล่านี้คือคนที่เรารักและรักเรา และเขาไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์ของเรา ลองถามตัวเองว่าอยากอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วยความรู้สึกอย่างไร ลองเปิดใจ ทำความเข้าใจภาระหน้าที่ของแต่ละคน เห็นใจกันและกัน อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง พยายามชื่นชมและขอบคุณคนในครอบครัวเวลาที่เขาทำสิ่งดีๆ ให้กับเรา
ขอบคุณที่มา : สสส.
เข้าชม : 488
|