พริกขี้หนู ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Capsicum frutescens L., Capsicum frutescens var. frutescens, Capsicum minimum Mill.) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)[1]
พริกขี้หนู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พริกแด้ พริกแต้ พริกนก พริกแจว พริกน้ำเมี่ยง (ภาคเหนือ), หมักเพ็ด (ภาคอีสาน), พริก พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (ภาคกลาง), ดีปลีขี้นก พริกขี้นก (ภาคใต้), พริกมะต่อม (เชียงใหม่), ปะแกว (นครราชสีมา), มะระตี้ (สุรินทร์), ดีปลี (ปัตตานี), ครี (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ลัวเจียะ (จีนแต้จิ๋ว), ล่าเจียว (จีนกลาง), มือซาซีซู, มือส่าโพ เป็นต้น[1],[3]
ประโยชน์ของพริกขี้หนู
- พริกเป็นพืชผักสวนครัวที่คนไทยจะขาดกันเสียมิได้ เพราะนิยมนำมาใช้ในการปรุงรสชาติอาหาร โดยผลแรกผลิสามารถนำใช้ผสมกับผักแกงเลียงช่วยชูรส ส่วนผลกลางแก่นำมาใช้ใส่แกงคั่วส้ม ก็จะได้อาหารที่มีรสเปรี้ยวอ่อน ๆ (เนื่องจากมีวิตามินซี) มีรสเผ็ดและมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อน หรือนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารที่ช่วยชูรส ใช้ใส่ในน้ำพริก ยำ ทำเป็นน้ำปลาดอง และใช้เป็นส่วนผสมในอาหารอีกเมนู[3]
- ยอดและใบอ่อน มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เนื่องจากมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินบีอยู่มาก จึงช่วยในการบำรุงประสาทและบำรุงกระดูก[6] อีกทั้งยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกหลายเมนู เช่น แกงเลียง แกงอ่อม ทอดกับไข่ ส่วนเมล็ดอ่อนหรือแก่นำไปปรุงรสเผ็ดในอาหาร เช่น ต้ม ลาบ น้ำพริก เป็นต้น[5]
- นอกจากเราจะใช้พริกขี้หนูในการประกอบอาหารต่าง ๆ แล้ว ยังประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา โดยคุณค่าทางโภชนาการของพริกขี้หนู ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 76 กิโลแคลอรี, น้ำ 82 กรัม, โปรตีน 3.4 กรัม, ไขมัน 1.4 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 12.4 กรัม, ใยอาหาร 5.2 กรัม, วิตามินเอ 2,417 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.29 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.11 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 1.5 มิลลิกรัม, วิตามินซี 44 มิลลิกรัม, แคลเซียม 4 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม (ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย)[5],[10]
- การรับประทานพริกเป็นประจำ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดลมอักเสบได้[9]
- การรับประทานพริกเป็นประจำยังช่วยจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้ เนื่องจากเป็นพืชที่มีวิตามินซีสูง การได้รับวิตามินซีมาก ๆ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากวิตามินซีจะไปช่วยยับยั้งการสร้างสารไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถหยุดการแพร่กระจายของเซลล์ร้ายได้ นอกจากนี้ วิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ และสารเบต้าแคโรทีนในพริกขี้หนูยังช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งในช่องปาก ช่วยลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ และช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง[9],[10]
- มนุษย์มีการใช้พริกเพื่อบรรเทาอาการปวดมานานแล้ว ในปัจจุบันจึงได้มีการนำพริกขี้หนูมาใช้เป็นส่วนผสมในยาขี้ผึ้งทาถูนวด เพื่อใช้แก้อาการปวดเมื่อยบวม บรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากผดผื่นคัน ผื่นแดง อาการปวดที่เกิดจากเส้น ปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด โรคเกาต์ และช่วยลดอาการอักเสบ โดยสารที่ออกฤทธิ์คือสาร "แคปไซซิน" (Capsaicin) และยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมในยาธาตุ ยาแก้ปวดท้อง เพราะสารสกัดจากพริกจะช่วยกระตุ้นการหลั่งเอนไซม์บางชนิดที่ทำให้กระเพาะอาหารเกิดการบีบตัวและคลายตัว ช่วยในการย่อย แก้กระเพาะเย็น ทำให้อบอุ่น[2],[9],[10]
- พริกกับการป้องกัน เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว มีสเปรย์ป้องกันตัวยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งมีพริกเป็นส่วนประกอบสำคัญ เมื่อฉีดเข้าตาโดยตรงอาจจะทำให้มองไม่เห็นประมาณ 2-3 นาที[10]
ข้อควรระวังในการรับประทานพริกขี้หนู
- ผู้ที่มีอาการกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ที่เป็นวัณโรคหรือริดสีดวงทวาร ไม่ควรรับประทานพริกขี้หนู[4]
- หากเผลอรับประทานพริกหรือเด็กรับประทานพริกที่เผ็ดมากอย่างพริกขี้หนูเข้าไป ก็ให้ดื่มนมตาม เพราะในน้ำนมจะมีสาร Casein ที่ช่วยทำลายความเผ็ดลงได้[8]
- การรับประทานพริกมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแสบท้อง ทำให้หน้าเป็นสิวได้ และถ้าถูกพริกหรือจับพริกก็จะทำให้ผิวหนังเกิดอาการแสบร้อนได้[9]
- สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเผ็ดเลย แล้วมารับประทาน อาจทำให้ชักตาตั้งได้[9]
หมายเหตุ : พริกขี้หนูสวน จะมีขนาดเล็กกว่า พริกขี้หนูธรรมดา มีความเผ็ดและความหอมมากกว่าพริกขี้หนูธรรมดา นิยมนำมาทำน้ำพริกกะปิ กับแหนม สาคู ข้าวขาหมู ฯลฯ
ขอบคุณที่มา:วิกิพีเดีย
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
เข้าชม : 1648
|