สายน้ำจากฟากฟ้าแก้ทุกข์ปวงประชา๑๔ พฤศจิกายน วันพระบิดาแห่งฝนหลวง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ โดยทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ
เมื่อปี ๒๔๙๘ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคอีสาน ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร
“...แต่มาเงยดูท้องฟ้ามีเมฆ ทำไมมีเมฆ อย่างนี้ทำไมจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝนก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”
พระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๙ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี ๒๔๙๘
ในตอนนั้นพระองค์จึงเกิดพระราชดำริว่าจะทำอย่างไรให้ “ฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้ง” แต่ไม่ใช่มีพระราชดำริแล้วทำและจดสิทธิบัตรทันที เพราะการทดลองครั้งแรกของการทำ “ฝนเทียม” ที่ชื่อโครงการ “ฝนหลวง” คือในปี ๒๕๑๒ โดยเริ่มที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการโรยน้ำแข็งแห้งก็ปรากฏว่ามีฝนตก ต่อมาเปลี่ยนที่ทดลองไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทดลองโดยการพ่นละอองน้ำพร้อมโปรยน้ำแข็งแห้ง และใช้เครื่องบินอีกชุดพ่นจากพื้นดิน โดยพระองค์ใช้วิธีแบบที่กล่าวไปข้างต้นตอนแรกร่วมกัน ต่อมาพระองค์ยังได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสูตรที่ใช้อีกหลายครั้งจนในปี ๒๕๑๖ พระองค์ก็คิดค้นวิธีการทำ “แซนด์วิช (Sandwich)” ได้สำเร็จ นั่นคือ คือ ก่อกวน เลี้ยงอ้วน และโจมตี เป็น ๓ ขั้นตอนในการทำให้ฝนไปตกในพื้นที่เป้าหมายอย่างหวังผลแม่นยำ แต่อย่างไรก็ตามพระองค์มีพระราชกระแสต่อว่าจำเป็นต้องพัฒนาต่อไปอีก เพราะการพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด
ซึ่งตรงนี้ควรกล่าวด้วยว่าประเทศไทยเราโชคดีที่สภาพภูมิอากาศมีความชื้นสูงและจะกลายเป็นเหตุผลอีกอย่างที่ทำให้เกิดการจดสิทธิบัตรสำเร็จเพราะมันทำได้ผลกว่า
ต่อมาหลังจากใช้เวลาพัฒนากว่า ๔๐ ปี ในปี ๒๕๔๒ เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงในขั้นวิกฤติ โปรดเกล้าฯ ให้ทบทวนเทคนิคที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นที่เคยใช้ปฏิบัติการที่ได้ผลมาแล้ว และพระราชทานให้ใช้เสริมการประยุกต์เทคโนโลยีฝนหลวงให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น โดยให้สภาวะแห้งคลายความรุนแรงลง จนคืนเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาอันสั้น ในระหว่างการปฏิบัติการสู้ภัยแล้งนี้ ทรงประดิษฐ์คิดค้นเทคนิคควบคู่ไปด้วย
โดยโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีการทำฝนในส่วนของเมฆเย็นที่ทดสอบได้ผลแล้ว ร่วมกับเทคโนโลยีฝนหลวงจากเมฆอุ่น พร้อมทั้งพัฒนาเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นในขณะเดียวกันได้อย่างสัมฤทธิ์ผล สามารถชักนำฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลได้อย่างแม่นยำและเพิ่มปริมาณฝนสูงยิ่งขึ้น
โปรดเกล้าฯ ให้เรียกเทคนิคที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใหม่ว่า เทคนิคการโจมตีแบบ “ซูเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich)” เทคโนโลยีฝนหลวงจึงได้รับการพัฒนาจาก ๓ ขั้นตอนเป็น ๖ ขั้นตอน
มีการพัฒนา “ฝนหลวง” มาเกือบ ๕๐ ปี พระองค์ทรงเห็นสมควรให้ขอจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี “ฝนหลวง” ซึ่งรวมทั้งเทคนิคต่าง ๆ ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเทคนิคในการโจมตีแบบ “ซูเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich)” นี่คือสิ่งที่พระองค์คิดค้นเองไม่ได้มีใครทำมาก่อนหน้านั้น
ดังนั้น การยื่นจดสิทธิบัตร “ฝนหลวง” ด้วยเทคนิค “ซูเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich)” จึงเริ่มในช่วงนั้น และได้รับในปี ๒๕๔๕ คำถาม คือ “ฝนเทียม” ที่มีมาก่อนหน้านี้เกือบ ๖๐ ปี แล้วทำไม “ฝนหลวง” ของพระองค์ถึงยื่นจดสิทธิบัตรได้ คำตอบก็คือ มันเป็น “กรรมวิธี” หรือ “เทคนิค” และกรรมวิธีนี้คือกรรมวิธีใหม่
ที่มา เว็บไซต์มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
ขอขอบคุณที่มา : โบราณนานมา
เข้าชม : 529
|