๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๔ (วังหน้า)
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี” เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย” เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน ๒๓๕๑ ณ พระราชวังเดิม และเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่พระมงกุฎยังไม่ลาผนวชและตรัสว่าต้องอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่สามารถควบคุมกำลังทหารเป็นอันมากได้ จึงมีพระชะตาแรงและต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒
หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรค และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๐๘ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพระราชวังบวรสถานมงคล สิริพระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา
พระองค์ทรงประชวรมาช้านานประมาณ ๕ ปี ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม ๒๔๐๘ เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ ๕๘ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็เสด็จขึ้นไปสรงน้ำ แล้วเจ้าพนักงานทรงเครื่องเชิญพระบรมศพสถิตในพระโกศทองคำ แห่มาประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในพระราชวังบวรสถานมงคล
อย่างไรก็ตามข้อที่ทรงหวาดระแวงมาตั้งแต่ต้นเรื่องการชิงราชสมบัติก็เป็นอันสงบระงับเมื่อใกล้จะสวรรคต เพราะปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จขึ้นไป ทรงรักษาพยาบาลทั้งกลางวันกลางคืน แสดงให้เห็นถึงความรักความเป็นห่วงเหมือนอย่างที่พี่รักน้องจะพึงทำ และเมื่อสวรรคตแล้วก็โปรดให้เรียกว่า “พระบรมศพ” จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง เป็นการยกย่องครั้งสุดท้าย
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
คัดความจาก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า ของ ส. พลายน้อย. สำนักพิมพ์มติชน
เข้าชม : 777
|