วันจักรี ๖ เมษายน
วันที่ระลึกแห่งการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงยกทัพกลับ จากเขมรเพื่อเข้าปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี ภายหลังบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว มุขอำมาตย์ราชมนตรีและราษฎรพร้อมใจอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕
ก่อนการเปลี่ยนแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งไปราชการทัพเมืองเขมร และยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงได้รีบยกทัพกลับ ขณะนั้นเป็น เดือนเมษายน ๒๓๒๕ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาถึงในวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ ก็ได้สืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีกจึงให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี และถือเป็นจุดสิ้นสุดของกรุงธนบุรี
ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะทรงปราบดาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น แม้จะทรงเป็นเสนาบดีที่มีบรรดาศักดิ์สูงสุดในแผ่นดิน คือเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่ก็มิได้ทรงสืบสายพระโลหิตจากพระราชวงศ์ใดทั้งสิ้น
ดังนั้นเมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงต้องทรงปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติในพระชนมชีพใหม่ จากสามัญชนมาสู่ความเป็นเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัย ซึ่งเปลี่ยนจากบ้านหรือจวนมาเป็นพระบรมมหาราชวัง ตำหนักบรรดาพระญาติวงศ์ทั้งหลาย ต่างก็ได้รับสถาปนาให้มีพระอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี การกินอยู่ การพูดจา การวางตัวจึงเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงตระหนักพระทัยดีว่า การอ้างสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชสมบัติสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์นั้นค่อนข้างยากลำบาก ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการคือ
ประการแรก มิได้ทรงมีสายสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตจากพระราชวงศ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ประการที่สอง มิได้ทรงอยู่ในฐานะวีรบุรุษผู้แลกเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อบ้านเมือง ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์จึงต้องทรงแสวงหาความชอบธรรมในการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับในหมู่ข้าทหาร ข้าราชบริพาร ตลอดจนราษฎรทั้งปวง
พระองค์ทรงเลือกวิถีทางธรรมะเป็นหลักสำคัญ เพราะทรงมีพระราชดำริว่า หัวใจของราษฎรทุกดวงพันผูกมั่นคงอยู่กับพระพุทธศาสนา จึงทรงเน้นพระราชภารกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์ประการหนึ่งคือ จะต้องทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา ทรงเป็นธรรมราชควบคู่ไปกับการปกป้องรักษาอธิปไตยของบ้านเมือง
เข้าชม : 929
|