กำมะถันเป็นธาตุอโลหะที่เป็นผลึกของแข็งสีเหลือง ณ อุณหภูมิห้อง พบได้ 3 รูปแบบคือ ซัลเฟอร์ ซัลไฟด์ และซัลเฟต นอกจากนี้กำมะถันยังเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลักของร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดกำหนดปริมาณกำมะถันที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
กำมะถันพบได้ในอาหารเกือบทุกประเภท สารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ กรดอะมิโน (เมไทโอนีน ซิสเตอีน โฮโมซิสเตอีน และทอรีน) วิตามินบี (ไบโอติน ไทอะมีน) ฟลาโวนอยด์ (เช่น เควอซิทินจากกระเทียม) อาหารที่พบกำมะถันหรือสารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบในปริมาณสูง ได้แก่ หญ้าหางม้า (หญ้าถอดปล้อง) กระเทียม ธัญพืช โปรตีนจากสัตว์ เช่น นม ไข่ นอกจากนี้กำมะถันในรูปซัลไฟด์และซัลเฟตในรูปแบบกลูโคซิโนเลตยังพบได้มากในพืชตระกูลกะหล่ำ (กะหล่ำปลี บรอกโคลี คะน้า) ไชเท้า ต้นหอม หอมแดง หอมหัวใหญ่ ผักชี สะตอ หน่อไม้ฝรั่ง ทุเรียน (ซัลไฟด์จากพืชผักเป็นสารที่ไม่ทนความร้อน และถูกเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบที่ไม่ออกฤทธิ์เมื่อผ่านการปรุงอาหาร) นอกจากนี้ร่างกายอาจได้รับซัลเฟตในปริมาณเล็กน้อยจากอากาศ และการดื่มน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามน้ำที่มีซัลเฟตในปริมาณมากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อลิตรจะมีรสไม่พึงประสงค์
กำมะถันมีจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ยาตำรับที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ มักเป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนัง เช่น สิว รังแค (เช่น แชมพูสระผม ซีลีเนียมซัลไฟด์) นอกจากนี้ยาหลายชนิดยังมีเกลือซัลเฟตเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาระบาย (แมกนีเซียมซัลเฟต) ยาลดกรด (อลูมิเนียมซัลเฟต) และธาตุเหล็ก (เฟอรัสซัลเฟต) สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กำมะถันในรูปแบบซัลเฟอร์มีจำหน่ายในรูปแบบ dimethyl sulfoxide (DMSO) และ methylsulfonylmethane (MSM) ส่วนกำมะถันในรูปแบบซัลเฟตพบอยู่ในรูปเกลือต่างๆ เช่น เกลือคิวปริกซัลเฟต (ทองแดง) เกลือสังกะสีซัลเฟต หรือเกลือแมงกานีสซัลเฟต โดยมักมีซัลเฟตปริมาณ 25-40 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ผลของกำมะถันต่อร่างกาย
เนื่องจากกำมะถันเป็นองค์ประกอบสำคัญของกรดอะมิโนและวิตามินบี กำมะถันจึงเป็นธาตุที่ส่ำคัญต่อการทำงานของโปรตีน เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมน และโปรตีนโครงสร้าง กรดอะมิโนซิสเตอีนยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลูตาไทโอน ซึ่งเป็นเพปไทด์ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการกำจัดอนุมูลอิสระ ซัลไฟด์จากพืชผักมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดผ่านทางหลายกลไก ปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสารสื่อ (transmitter) สำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ควบคุมการทำงานของเอนไซม์และการแสดงออกของยีน รวมทั้งควบคุมการทำงานของเอนไซม์สังเคราะห์ก๊าซไนตริกออกไซด์ในเยื่อบุผิว
การขาดกำมะถันเป็นภาวะที่พบไดยากมาก เนื่องจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวันมีกำมะถันในปริมาณที่เพียงพอ ผู้ที่อาจเสี่ยงต่อการขาดกำมะถัน ได้แก่ ผู้รับประทานมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด ในทางตรงกันข้าว ภาวะอันตรายจากการรับประทานกำมะถันเกินขนาดก็พบได้ยากเช่นกัน เนื่องจากกำมะถันในรูปแบบซัลเฟอร์อยู่ในรูปที่ถูกดูดซึมได้ยากมาก และสามารถถูกไตขับออกได้ อย่างไรก็ตามการรับประทานกำมะถันซัลเฟอร์ อาจทำให้ระบายท้องได้ กำมะถันในรูปแบบซัลเฟตมีความปลอดภัยสูง แต่การรับประทานซัลเฟตเกินกว่า 14-29 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร DMSO ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษต้องได้รับภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ สำหรับ DMSO รูปแบบรับประทานทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก และ DMSO รูปแบบทาทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง
ปฏิกิริยาระหว่างยา
เนื่องจากกำมะถันเป็นองค์ประกอบของสารเคมีหลายชนิดและยาหลายกลุ่ม ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ สำหรับผู้ที่รับประทานกระเทียมสดเพื่อสุขภาพ ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด และสามารถเสริมฤทธิ์กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด แปะก๊วย สารสกัดเมล็ดองุ่นได้
กำมะถันเป็นธาตุที่พบได้ในอาหารทั่วไป ภาวะขาดกำมะถันเป็นภาวะที่ไม่พบในผู้ที่รับประทานอาหารตามปกติ การเสริมกำมะถันด้วยการรับประทานอาหารโปรตีนและผักผลไม้ จึงเป็นวิธีที่ประหยัดและปลอดภัย
*ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติม แต่ต้องทราบว่า ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเป็นข้อมูลทั่วๆ ไป ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับคนไข้ทุกๆ คน และข้อมูลจากคนอื่นอาจขาดความถูกต้อง
ขอบคุณที่มา : haijai.com
เข้าชม : 1011
|