“หัวใจ” อวัยวะสุดสำคัญของร่างกาย ทำงานไม่มีวันพัก ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา
และต้องเต้นตลอดตราบที่ยังมีชีวิต จึงเป็นอวัยวะที่แข็งแรงมาก แต่คนไทยก็เสียชีวิตด้วย “โรคหัวใจ”
เป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน เพราะโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการชัดเจน กว่าจะรู้อาจจะสายเกินไป
.
“หัวใจวายเฉียบพลัน”
ก็เป็นอาการหนึ่ง ล่าสุดก็มีการพูดถึงเรื่องนี้กันเยอะ วันนี้เราจึงรวบรวม
ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ รวมถึงการป้องกัน เพื่อสำรวจตัวเองว่ามีความเสี่ยงของ
การเป็นโรคหัวใจหรือไม่ เพราะถ้ารู้จักอาการหัวใจวาย และวิธีช่วยเหลือ ก็รักษาชีวิตไว้ได้
.
เรื่องนี้ ทาง ผศ.นพ. ภาวิทย์ เพียรวิจิตร สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ว่าถือเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
บางคนปัจจัยเสี่ยงน้อยมาก ไม่เคยมีอาการมาก่อน แต่พอมาตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลก็พบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ
ซึ่งความอันตรายของโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือนแบบนี้ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงมาก
.
สาเหตุโรคหัวใจสิ่งสำคัญที่สุด คือ วิถีชีวิตและพฤติกรรมไม่ถูกต้องของตัวเราเอง อาทิ เครียดง่ายและเครียดบ่อย
กดดัน พักผ่อนน้อย สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมัน เกลือ น้ำตาล
หรือคอเลสเตอรอลสูง รวมไปถึงผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
มีภาวะอ้วนตั้งแต่เด็ก นอนกรนรุนแรงร่วมมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
.
5 วิธีปฏิบัติ เมื่ออาการหัวใจกำเริบ :
เมื่อมีอาการเจ็บเค้นหน้าอกนานกว่า 15 นาที หากอยู่คนเดียวให้โทรเรียกรถพยาบาล
หรือบอกคนใกล้ตัวช่วยขับรถไปส่งโรงพยาบาลใกล้ที่สุด เพราะนั่นเป็นสัญญาณเตือน
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งหากรักษาช้าและไม่ถูกต้อง สมองขาดออกซิเจน
กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตอย่างรวดเร็วและหัวใจวายได้
.
วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในผู้ที่มีหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ดังนี้
เรียกชื่อ หรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่
ถ้าไม่มีการตอบสนองใดๆ ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุก ชักเกร็ง หายใจเฮือก หรือหยุดหายใจหรือไม่
โทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยกู้ชีพ หรือรถพยาบาลฉุกเฉิน
ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจ หรือทำ CPR ช่วยให้หัวใจบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายเพื่อพยุงเวลาให้นานที่สุด
กระตุ้นการเต้นของหัวใจด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ หากบริเวณนั้นมีเครื่องติดตั้งไว้
.
อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองให้สุขภาพดีเป็นการป้องกันโรคนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งต้องอาศัยเวลา
ต้องตั้งใจจริงและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ ก็ไม่มีโอกาสมาคุกคามเราได้
เพราะฉะนั้นเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย
.