๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙
พระองค์ เป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๓ ณ จังหวัดนนทบุรี และเชื่อว่าเหล่าเครือญาติฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ เนื่องจากทางครอบครัวนิยมรับประทานข้าวเหนียว ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่น ๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์ ทั้งนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงกล่าวกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไว้ ความว่า
“...สังวาลย์เป็นกำพร้า...แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง...”
พระองค์มีพระนามที่นิยมเรียกกันว่า “สมเด็จย่า” ทั้งนี้พระองค์ยังได้ประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านทางเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จมาจากฟากฟ้าช่วยให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามว่า “แม่ฟ้าหลวง”
สมเด็จย่ามีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน คณะแพทย์ถวายการรักษาเบื้องต้นที่วังสระปทุม จนกระทั่งวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๘ จึงเชิญเสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึก ๘๔ ปี โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างการประทับรักษาที่โรงพยาบาล คณะแพทย์พบว่าเกิดการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะเพิ่ม ต่อมา มีพระอาการแทรกซ้อน มีการอักเสบที่พระอันตะพระอันตคุณ (ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก) และที่พระปับผาสะ (ปอด) ข้างขวา คณะแพทย์ได้พยายามถวายการรักษาจนพระอาการทั่วไปดีขึ้นบ้าง
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม สมเด็จย่ามีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการตั้งแต่เช้าจนเที่ยงของวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ คงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา ๒๑.๑๗ น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุ ๙๔ พรรษา
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้
ที่มา:โบราณนานมา