เนื้อหา : สาระน่ารู้พัฒนาทักษะชีวิต
หมวดหมู่ : แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
หัวข้อเรื่อง : ไร่ปลูกฝัน

พฤหัสบดี ที่ 17 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2566


คุณธีร์วศิษฐ์ วงค์ปัญญา
เกษตรกรผสมผสานผักสวนครัวเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่
สังกัดสำนักงานเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร จ.เชียงใหม่
เจ้าของ ไร่ปลูกฝัน
ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 9 ตำบลออนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 


 

คุณณธีร์วศิษฐ์ หันมาทำการเกษตรอย่างจริงจังเพราะมีใจรักในเรื่องการทำเกษตร และได้ศึกษาการตลาดอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มทำจากเล็กไปใหญ่ และค่อยๆ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชแต่ละชนิดจนมีความรู้ลึกซึ้งในด้านชีววิทยาของพืชนั้นๆ รวมถึงศึกษาในเรื่องของการตลาดด้วยว่าจะผลิตอะไร ขายให้ใคร ขายที่ไหน เมื่อมีผลผลิตออกมาแล้ว จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการไม่มีตลาดรองรับ ซึ่งการศึกษาอย่างลึกซึ้งนี้จะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดการผิดพลาด และมีความรู้ในเรื่องพืชแต่ละชนิดอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น คุณธีร์วศิษฐ์ ยังมีความเชื่อว่า อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีวันอดตาย เพราะมนุษย์ทุกคนต้องกินอาหารและอาหารเหล่านั้นก็มาจากการเกษตร ทำให้เราสามารถก้าวหน้าในอาชีพต่อไปเรื่อยๆ แต่ต้องค่อยๆ ทำและเรียนรู้อย่างจริงจัง
ความสุขที่ได้รับจากการทำอาชีพเกษตรกร ถึงแม้อาชีพเกษตรกรจะเป็นอาชีพที่เหนื่อยมาก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาก็คือ การได้กลับมาดูแลคุณแม่และครอบครัว ถึงแม้ตัวจะเปื้อนโคลนแต่ก็ได้อยู่กับธรรมชาติ เป็นความสุขในชีวิตที่เรียบง่าย ไม่หวือหวาตามกระแสโลกมากนัก แต่ได้อยู่ในโลกส่วนตัวที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว
 
คุณธีร์วศิษฐ์ ใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาประยุกต์ใช้ในเรื่องของการดำเนินชีวิต และใช้หลักการปลูกผักแบบตลาดนำ คือ ไม่ปลูกตามใจตัวเอง เน้นผลิตตามที่ลูกค้าต้องการจริง ไม่ปลูกตามใจฉัน ซึ่งตลาดในที่นี้คือ มีตลาดจริง มีสินค้าขายจริง และปลูกตามปริมาณที่ลุกค้าต้องการจริง สิ่งนี้คือ ตลาดนำการผลิต เพื่อลดปัญหาเรื่องผักล้นตลาด
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะกลับมาทำอาชีพเกษตรกร คุณธีร์วศิษฐ์ แนะนำว่า ถ้าเรามีใจรักในเรื่องของอาชีพเกษตรกรรมก็สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ โดยอาจจะทำในวันหยุด เช่น วันเสาร์ - อาทิตย์ หรือแม้แต่ในช่วงเวลาว่าง โดยลองปลูกพืชแปลงเล็กๆ แล้วนำไปจำหน่ายในชุมชนหรือตลาดใกล้ๆ ตัวก่อน ที่สำคัญคือจะต้องศึกษาตลาดให้ดีแล้วค่อยๆ ลงมือผลิตอย่างจริงจัง ซึ่งคุณธีร์วศิษฐ์ เอง ก็ได้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นเหมือนภุมิคุ้มกันให้เราไม่ผิดพลาด หรือบางคนอาจจะเบื่องานประจำหรือตกงาน ก็อาจจะลองหันมาทำอาชีพเกษตรกรรมได้ เพียงแค่ใช้พื้นที่เล็กน้อย อาจจะเป็นพื้นที่หลังบ้านประมาณ 1 งานหรือ 2 งาน หรือไม่กี่ตารางวาก็สามารถทำได้ โดยเริ่มทำจากเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยขยับขยายขึ้นมา เพราะอาชีพเกษตรกรยังไงก็ไม่มีวันตกงาน เพราะคนทุกคนต้องกินอาหารซึ่งก็มาจากผลผลิตทางการเกษตร และอาชีพนี้ยังสามารถต่อยอดทางธุรกิจต่อไปได้เรื่อยๆ
คุณธีร์วศิษฐ์ วงศ์ปัญญา เรียนจบจากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นทำอาชีพเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลอยู่ประมาณ 5-6 ปี จากนั้นจึงเปลี่ยนมาทำเรื่องของ sale exclusive แต่จุดพลิกผันที่ได้หันมาทำเกษตรกรก็เพราะส่วนตัวแล้ว คุณธีร์วศิษฐ์ ชื่นชอบและสนใจในเรื่องของการเกษตร บวกกับอยากกลับมาทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อดูแลคุณแม่เพราะแม่อยู่บ้านคนเดียว จึงหันเหจากมนุษย์เงินเดือนทำงานออฟฟิศ มาเป็นเกษตรกรจนถึงปัจจุบัน
เริ่มทำเกษตรมาตั้งแต่ปี 2560 โดยเริ่มจากการปลูกผักสลัด เพราะดูจากกระแส social และสื่อต่างๆ ว่า ผักสลัดมีราคาแพงก็เลยเริ่มจากการปลูกผักสลัดขายเพราะคิดว่าขายได้ราคา แต่กลับต้องประสบปัญหาหลายอย่าง ซึ่งปัญหาหลัก ๆ คือ ไม่มีตลาดรองรับ ตอนแรกเริ่ม คิดแต่เพียงว่า คนส่วนใหญ่นิยมกิน แต่หลังจากปลูกไปแล้วกลับไม่มีที่จำหน่ายที่จะสามารถระบายผักสลัดในล็อตที่ปลูก จนสุดท้ายต้องตัดทิ้งทั้งหมด ต่อมา คุณธีร์วศิษฐ์ จึงได้เริ่มศึกษาตลาดในเรื่องผักใหม่อย่างจริงจัง


คุณธีร์วศิษฐ์ ได้จัดสรรที่ดิน 10 ไร่ ให้เป็นการเกษตรแบบผสมผสาน คือ ไม่ได้ปลูกเพียงพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ปลูกพืชตามความต้องการของตลาด และพืชที่ให้ราคาสูง และผักทั้งหมดจะเป็นผักที่ปลอดภัย คือจะไม่ใช้สารเคมีในการพ่นเพื่อกำจัดโรคและแมลงเลย โดยจะแบ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกออกเป็น 3 โซน คือ
-โซนที่ 1 ผลิตข้าว
-โซนที่ 2แปลงผักกินผล
-โซนที่ 3 แปลงผักอายุสั้น เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า
คุณธีร์วศิษฐ์ได้คิดค้นวิธีการกำจัดแมลงและศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมีเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาหรือดื้อแมลง โดยใช้ระบบนิเวศน์และการใช้เชื้อราต่างๆ เข้ามาควบคุมในเรื่องของโรคพืชและแมลง ซึ่งเชื้อราที่ใช้ก็คือ เชื้อรา บิวเรีย , เมธาไรเซียม และ บีที ซึ่ง 3 ตัวนี้สามารถกำจัดแมลง , หนอน และ ยังสามารถควบคุมโรคพืชได้ดี ถือเป็นวิธีธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้บริโภค
หลังจากล้มเหลวจากการปลูกผักสลัดในครั้งแรก คุณธีร์วศิษฐ์ จึงกลับมาถอดบทเรียนด้วยตนเอง โดยเริ่มศึกษาในเรื่องของการตลาดชุมชน นั่นคือ ตลาดที่จัดจำหน่ายในพื้นที่ชุมชน โดยจะเน้นเรื่องร้านค้าปลีก หรือ จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคเลย โดยคุณธีร์วศิษฐ์ ได้เริ่มศึกษาวิเคราะห์ตลาดด้วยการเข้าไปสอบถามผู้ซื้อว่าเขาต้องการผักชนิดไหน ปริมาณเท่าไหร่ และปัญหาที่ได้พบเจอจากการซื้อผักแต่ละครั้งมีอะไรบ้าง แล้วก็นำสิ่งที่ได้จากลูกค้ามาถอดบทเรียนและสรุปว่าลูกค้าต้องการอะไร จนสุดท้าย คุณธีร์วศิษฐ์ ก็ได้ค้นพบแนวทางการตลาด นั่นคือ “การใช้ตลาดนำการผลิต” โดยจะปลูกผักตามชนิดและปริมาณที่ลูกค้าต้องการ เพื่อไม่ให้ผักเหล่านี้เสียหรือล้นตลาดมากเกินไป ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สามารถบริหารจัดการในเรื่องต้นทุนได้ และผู้บริโภคก็จะได้รับความพึงพอใจที่จะได้ซื้อผักปลอดสารพิษที่มีความสดใหม่ได้ตามต้องการ
 

สำหรับการวางแผนในอนาคต คุณธีร์วศิษฐ์ มองตลาดแบบ
“โมเดิร์นเทรด” คือ การไปติดต่อกับห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านอาหารสุขภาพเพื่อที่จะนำผักเหล่านี้ไปจำหน่าย ในส่วนของแปลงผักนั้น ก็ได้วางแผนจะทำ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” เพื่อให้เด็กๆ และครอบครัว รวมถึงผู้ที่สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้วิธีการปลูกผักปลอดสารพิษได้อีกด้วย

นอกจากนั้น คุณธีร์วศิษฐ์ ยังได้ทำการตลาดออนไลน์ทางเพจ facebook ภายใต้ชื่อ “ไร่ปลูกฝัน” โดยจะให้ข้อมูลข่าวสารเรื่อง ตาราง วัน เวลา และสถานที่จัดจำหน่ายผักและต้นกล้า เพื่อให้กลุ่มลูกค้าในเมืองสามารถตามไปซื้อได้ หรือลูกค้าบางคนจะส่งข้อความเป็นการส่วนตัวเพื่อขอให้ไปส่งสินค้าตามสถานที่ที่ลูกค้าต้องการได้

เกียรติประวัติ : ได้รับรางวัลครอบครัววิถีพอเพียงประจำอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ และเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่สังกัดสำนักงานเกษตรและกรมส่งเสริมเกษตร จ.เชียงใหม่

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : https://www.rakbankerd.com/agriculture/guru-view.php?id=142


เข้าชม : 634


แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น 5 อันดับล่าสุด

      ไร่ปลูกฝัน 17 / ส.ค. / 2566
      กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกกาแฟบ้านป๊อก 19 / ก.พ. / 2565
      กลุ่มทอผ้าปาเกอญอบ้านป่างิ้ว 19 / ก.พ. / 2565
      วัดห้วยบงธรรมจาริก 19 / ก.พ. / 2565
      วัดแม่ตะไคร้ 19 / ก.พ. / 2565