ประวัติสุนทรภู่แบบย่อ
พระสุนทรโวหาร (ชื่อจริง: ภู่, ภาษาอังกฤษ: Sunthron Phu) หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า "สุนทรภู่" เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มารดาของสุนทรภู่เป็นแม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ในวัยหนุ่ม สุนทรภู่ได้ลอบรักกับหญิงสาวชาววังหลังชื่อแม่จัน จนได้รับโทษขังคุก เมื่อพ้นโทษสุนทรภู่เดินทางไปหาบิดาที่บวชเป็นพระ ณ บ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ต่อมาได้สมัครเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง และเริ่มแต่งผลงาน 3 เรื่อง ได้แก่ นิทานคำกลอนเรื่องโคบุตร นิราศเมืองแกลง และนิราศพระบาท ระหว่างปี พ.ศ. 2349-2350 ในปี พ.ศ. 2363 สุนทรภู่เข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้รับตำแหน่ง "ขุนสุนทรโวหาร" และเริ่มแต่งนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ขณะที่ติดคุกจากโทษฐานที่ทำร้ายญาติผู้ใหญ่ของแม่จัน ชีวิตของสุนทรภู่ตกอับในช่วงรัชกาลที่ 3 ส่งผลให้ต้องสร้างสรรค์ผลงานมากมายเมื่อเลี้ยงชีพ ก่อนที่จะกลับมาได้ดีอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยได้รับราชการเป็น "พระสุนทรโวหาร"
สุนทรภู่ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2398 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผลงานเรื่องสุดท้าย คือ บทละครเรื่องอภัยนุราช
สุนทรภู่เป็นกวีในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานใน 4 รัชกาล จึงได้รับการขนานนามว่ากวีสี่แผ่นดิน พระสุนทรโวหาร (นามเดิม “ภู่”) หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า “สุนทรภู่” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ที่บริเวณด้านเหนือของ “พระราชวังหลัง” หรือบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองอื่น ในวัยเด็ก สุนทรภู่อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ ในสำนักพระภิกษุที่มีชื่อเสียง สำนักชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม) และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนัก (หรือผู้ทำหน้าที่ทางหนังสือในราชสำนัก) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
“สุนทรภู่” ไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นนามแฝงที่เกิดจากการนำคำว่า “สุนทร” ในชื่อบรรดาศักดิ์ “ขุนสุนทรโวหาร” ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มารวมกับชื่อจริงว่า “ภู่”
สุนทรภู่มีใจรักรักด้านกาพย์กลอนและเป็นกวีที่มีความชำนาญทางการประพันธ์เป็นอย่างยิ่ง โดยอาจเป็นผลมากจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่มีโอกาสได้ซึมซับความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรม และศิลปะการแสดงต่าง ๆ ในพระราชวังหลัง สุนทรภู่หมั่นเพิ่มพูนประสบการณ์ในการประพันธ์ด้วยการรับจ้างแต่งเพลงและบทกลอนมากมายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและคารมที่คมคาย สุนทรภู่จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกวี และมีชื่อเสียงมากขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 สุนทรภู่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “พระสุนทรโวหาร” เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2398 ขณะที่อายุ 69 ปี และเนื่องจากสุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่จึงได้รับสมญานามว่า “กวีสี่แผ่นดิน”
ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่
ภาพวาดระบายสีพระอภัยมณี
สุนทรภู่เป็นกวีเอกที่มีผลงานอันเป็นที่ยอมรับมากมาย จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย” สุนทรภู่มีความชำนาญทางด้านกลอนเป็นพิเศษ และได้ปรับปรุงกลอนโบราณ จนกลายเป็นกลอนที่มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่มีความไพเราะด้วยการใช้คำสัมผัสในในกลอนทุกวรรค ทั้งยังนิยมใช้คำง่าย ๆ เพื่อให้ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาได้อย่างชัดเจน กลอนนิทานและกลอนนิราศของสุนทรภู่จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง แต่ผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของสุนทรภู่คงหนีไม่พ้น “พระอภัยมณี” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติชีวิต ความรัก และการผจญภัยของพระอภัยมณี รวมทั้งของตัวละครอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระอภัยมณี
ในพระอภัยมณีสุนทรภู่ได้สร้างเนื้อหาที่แปลกใหม่ โดยนำเรื่องราวจากแหล่งต่าง ๆ มาผสมผสานกันเพื่อสร้างเรื่องราวที่สนุกตื่นเต้น แหล่งที่มาของพระอภัยมณีนั้นมีทั้งนิทานและการเมืองการปกครองของต่างประเทศ วัฒนธรรมของต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งของชาวตะวันตก นิทานไทย และเรื่องราวที่มาจากจินตนาการของสุนทรภู่เอง นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังได้สร้างตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์และมีความแปลกใหม่ ทำให้นิทานกลอนเรื่องพระอภัยมณีมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตัวละครเด็กที่เก่งกล้า เช่น สุดสาคร ซึ่งเป็นลูกของพระอภัยมณีกับนางเงือก สินสมุทร ซึ่งเป็นลูกของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร และม้านิลมังกร ซึ่งเป็นลูกของม้ากับมังกร
บทกลอนนิทานเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่นี้ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน และเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย และเมื่อปี พ.ศ. 2529 หรือในวาระที่ครบรอบ 200 ปีเกิด สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม
ผลงานของสุนทรภู่สอดแทรกข้อคิดและคติธรรมที่เหมาะสมกับกาลเวลา รวมทั้งสะท้อนถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมาก งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทองและอีกหลาย ๆ เรื่อง โดยนิราศ หมายถึง งานประพันธ์ประเภทหนึ่ง มักมีเนื้อหาในเชิงพรรณนาถึงการเดินทางเป็นหลัก มักจะสอดแทรกความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางนั้น
ผลงานของสุนทรภู่เป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากการนำผลงานของท่านไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น ละคร ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงหนังสือการ์ตูนและนิทาน
ผลงานทั้งหมดของสุนทรภู่ (ตามที่มีหลักฐานปรากฏ)
นิราศ - นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศภูเขาทอง, นิราศสุพรรณ, นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา, รำพันพิลาป, นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร
นิทานกลอน - โคบุตร, พระอภัยมณี, พระไชยสุริยา, ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ
สุภาษิต - สวัสดิรักษา, เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนหญิง
บทละคร - อภัยนุราช
บทเสภา - ขุนช้างขุนแผน และเสภาพระราชพงศาวดาร
บทเห่กล่อมพระบรรทม - เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร, เห่เรื่องจับระบำ และเห่เรื่องกากี
ข้อคิดสำหรับเด็ก ๆ จากผลงานของสุนทรภู่
นอกจากจะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านแล้ว ผลงานของสุนทรภู่ยังให้คติหรือข้อคิดที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต แม้แต่เด็ก ๆ ก็สามารถนำคำสอนและข้อคิดในผลงานของสุนทรภู่ไปใช้ได้ ตัวอย่างเช่น
ข้อคิดและคำสอนเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
– พระอภัยมณี
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ
– ขุนช้างขุนแผน
อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย
– เพลงยาวถวายโอวาท
มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี
– พระอภัยมณี
รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา จึงจะเบาแรงตนช่วยขวนขวาย
มีข้าไทใช้สอย ค่อยสบาย ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง
– พระอภัยมณี
ข้อคิดและคำสอนเกี่ยวกับการประหยัดอดออม
มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ
– สุภาษิตสอนหญิง
สอนให้รู้จักพูดจาไพเราะและเหมาะสม เพราะคำพูดนั้นสามารถสร้างมิตรหรือก่อศัตรูให้เราได้
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
– นิราศภูเขาทอง
26 มิถุนายน “วันสุนทรภู่”
วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายน จึงมีการกำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็น “วันสุนทรภู่” เพื่อระลึกถึงผลงานและความสามารถของสุนทรภู่ รวมถึงความสำคัญของวรรณกรรมของไทย หลายหน่วยงานมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีโดยทั่วไป ดังนั้น วันสุนทรภู่ ในวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีจึงเป็นโอกาสดีเพื่อรำลึกถึงกวีเอกผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการวรรณกรรมของไทย
เข้าชม : 480
|