[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : ข่าวเด่น
หัวข้อเรื่อง : ประเพณียี่เป็ง มนต์เสน่ห์แห่งเมืองล้านนา

พฤหัสบดี ที่ 18 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2564


 "ยี่เป็ง" เป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนาของภาคเหนือไทยที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลหรือวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา โดยตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลางหรือวันงานลอยกระทง ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว อากาศในวันนี้ดียิ่งนัก ท้องฟ้าก็ปลอดโปร่งโล่งสบายตาอย่างยิ่ง    ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวล้านนาในวันนี้นอกจากจะมีการลอยกระทงในแม่น้ำตามประเพณีลอยกระทงของไทยเราแล้ว ประเพณีอันสำคัญอย่างหนึ่งของดินแดนล้านนาเราก็คือ การจุดประทีปโคมลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า โดยมีความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ และบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต   ประวัติเกี่ยวกับประเพณียี่เป็ง  ในภาษาคำเมืองของทางเหนือ "ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" หมายถึง เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้นจึงหมายถึงประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสอง โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวี มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิด อหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี จึงจะเดินทางกลับมายัง บ้านเมืองเดิมได้ เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย ลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับ เรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ      นอกจากนี้ในงานบุญ "ยี่เป็ง" ของเมืองเชียงใหม่ ยังมีการเทศน์มหาชาติ ผู้คนจะออกมาตกแต่งบ้านเรือน วัดวาอาราม และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย อ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อประทีปและชักโคมยี่เป็งแบบต่างๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา ประเพณียี่เป็งภาคเหนือจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้น ถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เหล่าผู้มีจิตศรัทธาก็จะพากันไปถือศีล ฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ทั้งยังมีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาข้าวของเครื่องใช้ใดๆ ก็ได้มาร่วมสมทบเพื่อเป็นทานแก่คนยากจน ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กๆ ที่มาพร้อมของส่วนตัวไปลอยลำน้ำต่อไป      นอกจากนี้ ตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทอง พร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย การจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ชาวบ้านมักมีความเชื่อกันว่าเพื่อให้ว่าวได้นำเอาเคราะห์ ร้ายภัยพิบัติต่างๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใครบ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป      พิธีกรรมในวันยี่เป็งยังถือกันอีกว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นงานสืบสานประเพณีแห่งวัฒนธรรมชาวพุทธที่ดีเยี่ยมอย่างยิ่ง ให้บรรดาผู้มีจิตศรัทธาตลอดจนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต่อไป อีกทั้งงานประเพณีในค่ำคืนนี้ก็เพื่อเกิดความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้าน รวมถึงบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศงานยี่เป็งเชียงใหม่อันเป็นผืนแผ่นดินล้านนาแห่งนี้

ขอบคุณที่มา : ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประเพณีอันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา

เข้าชม : 879


ข่าวเด่น 5 อันดับล่าสุด

      กิจกรรมประจำเดือน 17 / ม.ค. / 2565
      ส.ค.ส คืออะไร? (ห้องสมุดประชาชนอำเภอเมืองเชียงใหม่) 29 / ธ.ค. / 2564
      ประเพณียี่เป็ง มนต์เสน่ห์แห่งเมืองล้านนา 18 / พ.ย. / 2564
      วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ 7 / ก.ย. / 2564
      11 ผักและสมุนไพรที่ควรกินหน้าหนาว 12 / พ.ย. / 2563


 

ห้องสมุดประชาชนอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 
ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ 053-241186  E-mail PublicLib.ampermeuang.cm@gmail.com เว็บตรง

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี