[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : ข่าวประชาสัมพันธ์
หัวข้อเรื่อง : 26 มิถุนายน วันสุนทรภู่ \\\"กวีเอก สี่ แผ่นดิน\\\"

ศุกร์ ที่ 26 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2563


 

ประวัติสุนทรภู่ "วันสุนทรภู่" 26 มิถุนายน ผลงาน ความสำคัญ



ชีวประวัติ "สุนทรภู่"

          สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย             จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 08.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม อีกด้วย

          "สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

          ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ “พ่อพัด” ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป

          หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท             จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง "นิราศพระบาท" พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก "นิราศพระบาท" ก็ไม่ปรากฏผลงานใด ๆ ของสุนทรภู่อีกเลย

          จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย        จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้อง   พระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรง      พระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

          ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง"สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง              "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ"

          "สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขา คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขา รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษา ก็ลาสิกขา และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

          ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่"

          สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

ประวัติสุนทรภู่ช่วงก่อนรับราชการ

พ.ศ.2329 - 26 มิถุนายน (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

พ.ศ.2349 - นายภู่เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง จึงได้แต่ง นิราศเมืองแกลง

พ.ศ.2350 - นายภู่รับราชการเป็นมหาดเล็ก ในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ตามเสด็จไปบูชาพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชาปีนั้นจึงได้แต่งนิราศพระบาท

ประวัติสุนทรภู่ช่วงที่รับราชการในรัชกาลที่ 2 อยู่ 8 ปี

-          พ.ศ.2359 - เข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) นายภู่เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์

ได้รับตำแหน่งเป็น “ขุนสุนทรโวหาร” เพราะทดลองแต่งกลอนบทละครรามเกียรติ์ต่อจากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาฯ ซึ่งเป็นช่วงที่สุนทรภู่มีชื่อเสียง มีชีวิตการงานที่รุ่งโรจน์ ได้รับเลื่อนเป็น “หลวงสุนทรโวหาร” ได้รับบ้านประจำตำแหน่งที่ท่าช้าง (อยู่ใกล้วังท่าพระ) มีหน้าที่คอยถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์วรรณคดีต่างๆ ที่ได้เลื่อนขั้นเพราะแต่งบทกลอนตอนนางสีดาผูกคอตาย และศึกสิบขุนสินรถ บรรยายฉากรถศึกของทศกัณฐ์ได้ดี

-          พ.ศ.2367 - เป็นช่วงปลายรับราชการในรัชกาลที่ 2 คาดว่าสุนทรภู่แต่ง “สวัสดิรักษา” ระหว่างที่ถวายงานเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2

ประวัติสุนทรภู่ช่วงที่บวชอยู่ 18 ปี

พ.ศ.2372 - ระหว่างเปลี่ยนรัชกาล สุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุและได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรเจ้าฟ้ากลาง คาดว่าระหว่างนั้นได้แต่งเรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท และได้แต่งโคลงกลอนนิทานไว้มากมาย อาทิ พระอภัยมณี, ลักษณวงศ์, สิงหไตรภพ

พ.ศ.2385 - ก่อนลาสิกขา พบว่าพระสุนทรภู่ได้แต่ง รำพันพิลาป ซึ่งเป็นผลงานที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยในปี พ.ศ.2480 ในเกือบ 100 ปีถัดมา โดยพระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) เป็นผู้มอบต้นฉบับที่พบให้แก่หอสมุดแห่งชาติ นักประวัติศาสตร์สมัยนั้นจึงได้ทราบเป็นหลักฐานเรียงไทม์ไลน์ชีวประวัติของสุนทรภู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

พ.ศ.2394 - เปลี่ยนรัชกาลอีกครั้ง พระสุนทรภู่ลาสิกขา รับราชการเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ได้แต่งนิราศ 2 เรื่อง คือ นิราศเมืองเพชร และ นิราศพระประธม

บ้างก็ว่าบั้นปลายชีวิตสุนทรภู่อาศัยอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอพระยามณเฑียรบาล (บัว) ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2398 สิริอายุ 69 ปี แต่ข้อมูลจากสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน ระบุว่า สุนทรภู่ซื้อบ้านอยู่ย่านธนบุรี และเสียชีวิตที่บ้านนี้เมื่ออายุ 80 ปีเศษ

ผลงานสุนทรภู่ที่โดดเด่น คือ “พระอภัยมณี”

บทกลอนนิทานเรื่องนี้ได้รับการยกย่องครั้งแรกจากวรรณคดีสโมสร ว่าเป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน และเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และในปี พ.ศ.2529 สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม

วามโดดเด่นของ “พระอภัยมณี” แสดงให้เห็นว่าสุนทรภู่เป็นผู้ที่มีความสนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่จากชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแพร่ในพระนครในสมัยนั้น คาดว่าสุนทรภู่จะพูดภาษาอังกฤษได้ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างชาติ ดังสังเกตเห็นได้จากตัวละครผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นเจ้าเมือง และมีสิทธิ์ตัดสินใจ แตกต่างจากสตรีไทยในยุคนั้น ที่จะต้องอยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน ไม่มีบทบาทขึ้นมาทำงานเทียบเท่าผู้ชายได้

ประเภทนิราศ

          - นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง

          - นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชา

- นิราศภูเขาทอง  (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดอยุธยา

- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา

- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา

- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา

- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี

- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติม ซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน

          เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ

ประเภทสุภาษิต

          - สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

          - สุภาษิตสอนหญิง เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่

          - เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร

          - เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา

          - เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

          - เรื่องพระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม

          แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่อง คือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี

ตัวอย่างวรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่

            ด้วยความที่สุนทรภู่เป็นศิลปินเอกที่มีผลงานทางวรรณกรรม วรรณคดีมากมาย ทำให้ผลงานหลาย ๆ เรื่องของสุนทรภู่ ถูกนำไปเป็นบทเรียนให้เด็กไทยได้ศึกษา จึงทำให้มีหลาย ๆ บทประพันธ์ที่คุ้นหู หรือ "วรรคทอง" ยกตัวอย่างเช่น
บางตอนจาก นิราศอิเหนา

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้

หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก

สารพัดตัดขาดประหลาดนัก

แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ

แหล่งที่มา https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1875356
https://hilight.kapook.com/view/24209

 



เข้าชม : 1565


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      13 ม.ค. 67 ห้องสมุดประชาชนอำเภอพร้าว ร่วมกับบ้านหนังสือชุมชนบ้านหลวง และครู ศกร.ตำบลโหล่งขอด 🎊จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ 😊🎉 ณ บ้านหนังสือชุมชนบ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 15 / ม.ค. / 2567
      วันที่10 มกราคม 2567 ห้องสมุดประชาชนอำเภอพร้าว ร่วมกับ ครู ศกร.ตำบลสันทราย จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านภายใต้โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ณ ตลาดสดบ้านสันปง ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 12 / ม.ค. / 2567
      วันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11) 30 / ต.ค. / 2566
      รับสมัครนักศึกษา ภาคเรียนที่ 2/2566 25 / ต.ค. / 2566
      ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมลงนามเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ 16 / ต.ค. / 2566


 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่ 
ที่อยู่  ม.5 ต.ทุ่งหลวง  อ.พร้าว  จ.เชียงใหม่
โทรสาร  053-475530  E-mail phrao555@hotmail.com
บาคาร่า Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี