ในอดีตมีบันทึกเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นงานหลวงครั้งแรกในวันที่ 15 พฤษภาคม 2393 ซึ่งเป็นการฉลองพระเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จากแต่เดิมพิธีนี้ถือเป็นงานส่วนตัวของพระมหากษัตริย์ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐาน และมีพระราชดำริว่าควรสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ นับจากรัชสมัยของพระองค์ วันฉัตรมงคลก็ได้ถูกระบุเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลนับแต่นั้นมา
ตามธรรมเนียมเดิม พระราชพิธีฉัตรมงคลที่จัดขึ้นในเดือน 6 ตามปฏิทินไทย ซึ่งตรงกับเดือนพฤษภาคมตามปฏิทินสากล เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการฝ่ายใน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ.1230 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4 ต่อมา จนกระทั่งเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีระกาเบญจศก จ.ศ.1235 ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย ในปีต่อมาจึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล จากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า “การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร” มีการจัดพระราชพิธีรวม 4 วัน ในเดือน 12 แรม 10 ค่ำ ถึงแรม 13 ค่ำ
พระราชพิธีฉัตรมงคลนั้นเป็นพิธีจัดสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น สำหรับเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย
1. พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระมหาพิชัยมงกุฎ ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร มีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ภายหลังประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรป จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่พระมหากษัตริย์สวมมงกุฎ จากนั้นมาจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ พระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
2. พระแสงขรรค์ชัยศรี
พระแสงขรรค์ชัยศรี ด้ามและฝักทำด้วยทองลงยาประดับอัญมณี เป็นพระแสงราชศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเศษ เมื่อ พ.ศ.2328 โดยพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ให้ข้าราชการเมืองพระตะบองนำมาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 1
3. ธารพระกร
รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างธารพระกรจากไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ที่สุดส้นเป็นส้อมสามง่าม เรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ ภายหลังรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างด้วยทองคำ ภายในมีพระเสน่า ยอดมีรูปเทวดา เรียกว่า ธารพระกรเทวรูป มีลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่า ครั้งถึงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบมาจนถึงรัชกาลที่ 9
4. วาลวิชนี
วาลวิชนี หรือ พัดและแส้ รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้น พัดเป็นใบตาลปิดทองทั้ง 2 ด้าน ขอบขลิบทองคำ ด้ามทำด้วยทองลงยา ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริให้เรียกตามภาษาพระบาลีว่า “วาลวิชนี” เป็นเครื่องโบกทำด้วยขนหางจามรี และขนหางช้างเผือกในเวลาต่อมา เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ใช้ควบคู่กับพัดใบตาล
5. ฉลองพระบาทเชิงงอน
ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร และ พราหมณ์เป็นผู้สวมถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหลังจากจบพิธีสงฆ์ ทหารบก และทหารเรือ ยิงปืนใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายละ 21 นัด และมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้ ทำความดีให้แก่ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ที่มา https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2083001