ประเพณีและประวัติวันลอยกระทง
วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ “กระทง” จากวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย
ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดเจนว่าเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยจากข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏได้ระบุไว้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อครั้ง สุโขทัย เป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีประเพณีนี้จะเป็นพิธีของพราหมณ์ที่กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ยึดถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยมีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และมีการลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมทา (แม่น้ำนัมทา เป็นแม่น้ำที่อยู่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัยที่ไหลลงสู่ภาคตะวันตกของอินเดีย แม่น้ำแห่งนี้เป็นตัวแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้)
จากตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้ได้กล่าวเอาไว้ว่า ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เดิมเรียกพิธีจองเปรียง มีการลอยประทีป จากนั้นนางนพมาศนำดอกโคทมซึ่งเป็นดอกบัวบานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป ดังปรากฏให้เห็นในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปอดกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน”
ในปัจจุบันมีหลักฐานว่า ประเพณีลอยกระทง ไม่น่าจะมีความเก่าแก่กว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชการที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการทำกระทงจากดอกบัวมาเป็นต้นกล้วย เนื่องจากว่าดอกบัวเป็นวัตถุดิบที่หายากและมีน้อยเลยใช้ต้นกล้วยมาทำเป็นกระทงทดแทน แต่เมื่อดูๆ แล้วยังขาดความสวยงาม จึงนำใบตองมาพับเป็นกลีบคล้ายดอกบัวเพื่อตกจนเกิดความสวยงามสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
งานลอยกระทงตามประเพณีของท้องถิ่น
ภาคเหนือตอนบน มักนิยมทำโคมลอยที่เรียกว่า ลอยโคม หรือ ว่าวฮม หรือ ว่าวควัน ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศคล้ายกับบอลลูน ซึ่งชาวเหนือมักเรียกประเพณีนี้ว่า ยี่เป็ง หมายถึง การทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (เป็นการนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)
- จังหวัดเชียงใหม่ จะมีประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ ทุกๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการคา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
- จังหวัดตาก จะมีการลอยกระทงขนาดเล็กเรียงรายกันไปเป็นสาย เรียกว่า กระทงสาย
- จังหวัดสุโขทัย จะมีขบวนแห่โคมชัก โคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง
|