[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : ข่าวประชาสัมพันธ์
หัวข้อเรื่อง : เรื่องเล่าประวัติศาสตร์เมืองพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

อังคาร ที่ 16 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2563


 

ประวัติศาสตร์อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่
เมืองเก่าวังหิน ถิ่นประเพณีล้ำค่า บูชาพระเจ้าล้านทอง เรืองรองเกษตรกรรม แดนธรรมหลวงปู่แหวน


            เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงใหม่  เมืองพร้าววังหินเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๑๘๒๔ โดย "พระญามังราย"(พญามังราย) ณ ตำบลแจ้สัก หรือเดิมเรียกว่า เวียงหวาย  
            ท่านพระญามังราย มีทหารผู้ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งชื่อว่า ขุนฟ้าเป็นชนเชื้อสาย ละว้า แต่มีความเฉลียวฉลาดและซื่อสัตย์มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ยิ่งนัก ได้รับอาสาไปทำกลอุบายต่างๆ นานา ต่อพระยายีบา ผู้ครองเมืองหริภุญชัย เป็นเวลานานถึง ๗ ปี เช่นในฤดูร้อน แผ่นดินแห้งผากได้เกณฑ์ชาวบ้านชาวเมือง ไปขุดเหมืองส่งน้ำ ชาวบ้านสอบถามก็บอกว่าเป็นคำสั่งของเจ้าเหนือหัว พอถึงฤดูฝนข้าวเต็มนาก็เกณฑ์ชาวบ้านชาวเมืองไปปลูกบ้านสร้างเมือง ชาวบ้านแบกไม้หามเสาผ่านทุ่งนาอย่างทุลักทุเลทำให้ไร่นาเสียหายมาก ครั้นชาวบ้านชาวเมือง สอบถามก็ตอบอย่างเดิม จึงทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนจงเกลียดจงชังพระยายีบา เป็นที่ยิ่ง ในขณะที่พระญามังรายได้ส่งขุนฟ้าไปเมืองหริภุญชัยแล้ว จึงรับสั่ง ให้ราชโอรสองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่าขุนเครื่อง ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษาให้ไป ครองเมืองเชียงราย ส่วนพระญามังรายครองราชย์สมบัติ ณ เมืองฝาง ฝ่ายขุนเครื่อง ราชโอรส เสด็จไปครองเมืองเชียงราย อยู่ไม่นานนักอำมาตย์ผู้หนึ่ง มีชื่อว่าขุนใสเวียง ได้กราบทูลยุยงให้คิดกบฎต่อพระบิดา โดยให้ชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงรายเสีย และให้จัดกำลังพลแข็งเมืองฝ่ายพระญามังรายทรงทราบ จึงปรารภว่าขุนเครื่องผู้มีบุญน้อยจะมาคิดแย่งราชสมบัติกูผู้เป็นพ่อเช่นนี้ จักละไว้มิได้ จึงมอบให้ขุนอ่องซึ่งเป็นทหารผู้ไว้วางพระราชหฤทัยผู้หนึ่ง ไปเชิญขุนเครื่องผู้โอรสให้มาเฝ้าที่เมืองฝาง ในขณะที่ราชโอรสเดินทางจากเมืองเชียงราย จะมาเฝ้าพระราชบิดาตามคำบอกเล่าของขุนอ่อง ท่านพระญามังรายจึงมอบให้ทหารผู้แม่นธนูได้ดักยิงที่กลางทางด้วยธนูอาบยาพิษ ทำให้ขุนเครืองสิ้นพระชนม์ระหว่างทางณ ที่แห่งหนึ่งในเขตอำเภอพร้าว บริเวณนั้นพระญามังรายได้เสด็จมาจัดการพระศพราชโอรสและทรงให้สถาปนา บริเวณ ที่ขุนเครื่องถูกปลงพระชนม์นั้นเป็นอารามเรียกว่า วัดเวียงยิง มีซากเจดีย์ร้างอยู่แห่งหนึ่งอยู่บนเนินเขาที่บ้านทุ่งน้อย ตำบลบ้านโป่งอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเรียกว่า วัดเชียงยิง หรือวัดกู่ยิง(วัดสันป่าเหียง) ครั้นแล้วก็โปรดให้อัญเชิญพระศพไปฌาปนกิจเสียที่เมืองเชียงรายและในวัดแห่งนี้ต่อมาเป็นวัดร้าง และมีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่ ๒ องค์มีลักษณะสวยงามมาก ขณะนี้เก็บไว้ที่ วัดป่าลัน ตำบลบ้านโป่ง และที่วัดหนองอ้อ ตำบลเวียง เรียกว่า พระฝนแสนห่า

                                                                                
                                           พระเจ้าฝนแสนห่า แห่งวัดหนองอ้อ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่  วัดศรีดอนไชยทรายมูลหนองอ้อ
                                                Cr : ภาพ และ ข้อมูล วัดหนองอ้อ โดย พระครูมหาสิงค์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

                   พุทธศักราช ๑๘๒๓ พระญามังรายทรงให้ขุนคราม โอรสองค์ที่สองไปครองเมืองเชียงราย จากนั้น ตามหนังสือประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุด แห่งชาติเล่มที่ ๒ กรุงเทพ ฯ หน้า ๕๕๑ มีความว่า "ส่วนพระญามังรายเมื่อทรง ทราบข่าวตามหนังสือขุนฟ้ามีมานั้น ก็มีความยินดียิ่งนัก จึงได้เกณฑ์จตุรงค์พล โยธาเป็นทัพใหญ่ยกออกจากนครเมืองฝางมาทางเมืองแจ้สัก แล้วประชุมผลที่นั้นและได้สร้างเวียงเวียงหนึ่ง ให้ชี่อว่า เวียงพร้าววังหิน .เดิมนั้นเรียก เวียงหวายเวียงพร้าว เดิมเข้าใจว่าเดิมคงจะเป็น เวียงป่าว มาจากคำว่า ป่าวร้องกะเกณฑ์ ไพร่พล เนื่องจาก เวียงพร้าวเป็นเมืองสะสมนักรบและไพร่พล และเป็นเมืองหน้า ด้านที่สำคัญ ก่อนจะสร้างเมืองพร้าววังหิน มีนามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เวียงหวาย" เข้าใจว่าคงจะมีหวายขึ้นแถวนั้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีหมู่บ้านชื่อว่า บ้านโล๊ะป่าหวายอยู่ไม่ไกลจากเมืองเก่า ในขณะที่พระองค์มาพักและสร้างเวียงพร้าววังหินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ท่านก็เดินทัพต่อไป โดยมอบให้ขุนเครือราชโอรสองค์ที่ ๓ของพระองค์อยู่สร้างเมืองต่อ และครองเมืองพร้าวขุนเครือครองเมืองพร้าวได้ไม่นานก็ทำความผิดโดยทางชู้สาวกับพี่สะใภ้ คือพระมเหสีขุนคราม ณ เวียงเชียงดาว ความทราบไปถึงพระญามังราย จึงคิดว่าถ้าหากปล่อยละไว้ ลูกทั้งสองจะรบราฆ่าฟันกันขึ้น จึงเนรเทศขุนเครือให้ไปครองเมืองนาย (เข้าใจว่าน่าจะเป็นเมืองน่านในปัจจุบัน) ส่วนพระมังรายหลังจากเดินทัพจากเมืองพร้าวไป ก็ได้ยกทัพปล้นเอา เมืองลำพูนได้ ในวันขึ้น ๔ค่ำ เดือน ๕ จุลศักราช ๖๓๙ ปีมะเส็ง ตรีศก (ประมาณ เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน พ.ศ. ๑๘๒๔) ซึ่งขณะนั้นพระมังรายมีพระชนมายุ๔๓ ปี พระญามังราย ย้ายจากเมืองลำพูนมาสร้างเวียงกุมกามขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๖ -๑๘๓๗ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลท่าศาลา อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม และมักมีน้ำท่วมในฤดูฝน ต่อมาเนื่องจากมีน้ำ ปิงไหลผ่านและเปลี่ยนทิศทางเดิน พระญามังรายจึงย้ายจากเมืองกุมกาม มาสร้าง เมืองเชียงใหม่ในปีวอก อัฐศก วันพฤหัสบดี เดือน ๓ เหนือขึ้น ๕ ค่ำจุลศักราช ๖๕๘(พ.ศ. ๑๘๓๙) ทรงสร้างนาน ๔ เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์ มีการจัดงานมหรสพสมโภช ฉลองเมืองเชียงใหม่เป็นการใหญ่ โดยให้ขนานนามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ส่วนพระยายีบาผู้ครองเมืองลำพูนเดิมนั้น หนีไปอยู่กับพระยาเบิกผู้เป็นบุตรที่
นครเขลางค์ เพื่อคบคิดซ่องสุมประชุมพล จะยกมาชิงเมืองลำพูนคืน พระญามังรายทรงทราบ จึงได้ให้ขุนครามราชบุตรองค์ที่ ๒ รวมพลไปตีเมืองเขลางค์ ขุนครามรบชนะ จึงได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาไชยสงคราม เมื่อทำศึกเรียบร้อยแล้วเจ้าพระยาไชยสงครามก็กราบบังคมลากลับเมืองเชียงราย พอถึงเมืองเชียงรายแล้ว จึงแต่งตั้งขุนช่างไปแผ้วถางเมืองเชียงดาว สร้างคูวังที่ประทับพร้อมด้วยโรงพลช้าง ม้า ฉางข้าว ฯลฯ หลังจากนั้นชายาของพระยาไชยสงครามก็มาประทับที่วังเชียงดาวพระองค์ทรงมีราชบุตร ๓ พระองค์ คือ
๑. ท้าวแสนภู
๒. ท้าวพ่อน้ำท่วม
๓. ท้าวพ่องั่ว
                  จนถึงปีจุลศักราช ๖๗๙ ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๖๐ พระญามังรายมีพระชนมายุ ๘๐ พระชันษา พระองค์ได้เสด็จประพาสตลาดกลางเมืองเชียงใหม่ อสนีบาตตกพระองค์ถึงทิวงคตที่นั่น หมู่เสนาอำมาตย์จึงได้อันเชิญพระเจ้าไชยสงครามมาจัดการพระศพและครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาไชยสงครามจึงอภิเษกโอรสองค์ใหญ่ชื่อท้าวแสนภู ซึ่งมีพระชนมายุ ๒๑ ชันษา ครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาไชยสงคราม กลับไปครองเมืองเชียงรายต่อไป เมื่อขุนเครือทรงทราบข่าวพระราชบิดาทิวงคตแล้วเจ้าแสนภูครองเมืองแทน จึงออกอุบายว่าจะมาถวายบังคมพระศพ แล้วยกพลโยธา มาล้อมเมืองเชียงใหม่ ท้าวแสนภูจะออกรบก็กลัวว่าจะเป็นอันตราย จึงได้หลบหนี ออกจากเวียงไป ขุนเรือจึงได้ครอบครองเมืองเชียงใหม่แทน ในปีจุลศักราช ๖๘๑(พ.ศ. ๑๘๖๒) เจ้าพระยาไชยสงครามทรงทราบว่าขุนเครือชิงราชสมบัติโอรสของตนจึงทรงพิโรธ ได้ส่งพ่อท้าวน้ำท่วม ราชบุตรองค์ที่ ๒ ผู้ครองเมืองฝาง ให้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ จนล้อมจับขุนเครือได้ เจ้าพระยาไชยสงครามทรงทราบว่าราชบุตรทรงรบชนะ ก็พลโยธามาเชียงใหม่ ขณะนั้นเจ้าน้ำท่วมมีพระชนมายุ ๓๐ปี ได้ครองเมืองเชียงใหม่ ในปีจุลศักราช ๖๘๔ (พ.ศ. ๑๘๖๕) ฝ่ายขุนเครือได้ถูกคุมขังไว้ตำบลทับคันได (เข้าใจว่าน่าเป็นตำบลโหล่งขอดปัจจุบัน เนื่องจากมีชื่อลูกดอยลูกหนึ่งชื่อใกล้เคียง) ขุนเครือถูกกักขังนาน ๔ ปี ก็สิ้นพระชนม์ ราวพ.ศ. ๑๘๗๒ คำนวณอายุ ได้ ๓๗ พรรษา ในการควบคุมขุนเครือนั้นเจ้าพระยาไชยสงครามทรงแต่งตั้งท้าวบุญเรืองเป็นหัวหน้าผู้ควบคุม จนกระทั่งท้าวบุญเรืองชราภาพและเสียชีวิตจึงได้สร้างกู่ไว้เป็นที่เก็บอัฏฐิให้ชื่อว่า กู่ท้าวบุญเรืองไว้ตรงแจ่งของเมืองชั้นนอก (เข้าใจว่าน่าจะเป็นที่บริเวณโรงเรียนบ้านบ้านแจ่งกู่เรืองในปัจจุบัน

                 
 เวียงพร้าววังหิน เป็นเวียงที่รุ่งเรืองมากมีคนอยู่หนาแน่น เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านเป็นที่สร้างนักรบและประชุมพล สังเกตได้จากตัวเวียงชั้นใน (พร้าววังหิน)มีขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ ๒๐๐ กว่าไร่ และมีวัดร้างโดยรอบหลายวัด เช่น ที่บริเวณโรงเรียนบ้านหนองปลามันและทางทิศตะวันตกของโรงเรียน อีก ๒๐๐ เมตร และที่ใกล้เคียงอีกหลายแห่งต่างก็เป็นวัดร้าง ซึ่งวัดร้างดังกล่าวหมายรวมถึงวัดพระเจ้า ล้านทองด้วย ปัจจุบันก็อยู่ห่างกันไม่มากนัก และหัวเมืองชั้นนอก (เวียงพร้าวปัจจุบัน) ก็มีวัดร้างหลายแห่ง เช่น วัดดงต้นกลาง วัดดงต้นปอ วัดดงอาทิตย์ วัดศรีชมภู วัดศรีชุม วัดต้นแก้ว วัดสุพรรณ เป็นต้น ซึ่งวัดร้างเหล่านี้ก็อยู่ห่างกันไม่มาก จำนวนวัดก็ดูมากกว่าวัดในเวียงพร้าวในปัจจุบันนี้เสียอีก ซึ่งเป็นสิ่งแสดงถึงความหนาแน่นของคนในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังสันนิษฐานได้จากหนังสือพงศาวดารว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองเชียงใหม่จะต้องแต่งตั้งผู้ที่ไว้วางใจได้มาครองเวียงพร้าววังหิน ดังปรากฏในสมัยพระสามฝั่งแกน กษัตริย์เมือง เชียงใหม่มราชบุตร ๑๐ พระองค์ ทรงพระนามตามลำดับดังนี้ คือ ท้าวอ้าย ท้าวยี่ ท้าวสาม ท้าวใส ท้าวงั่ว ท้าวลก ท้าวเจ็ด ท้าวแปด ท้าวเก้า ท้าวสิบ ราชบุตรผู้ทรงนามท้าวอ้ายนั้นเมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาตั้งไว้ในที่อุปราช ผู้ซึ่งรับราชสมบัติสืบต่อพระองค์ ให้ประทับอยู่ในเวียงเจ็ดลิน ( เวียงเจ็ดลินตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพบริเวณถนนห้วยแก้ว ยังมีซากเมืองปรากฎอยู่จนปัจจุบัน) ทรงมีพระชนม์ ชีพอยู่อีก ๒ ปี จนพระชนมายุ๙ พรรษาก็เสด็จสวรรคต แต่ท้าวงั่วผู้ถ้วนห้านั้นพระบิดาให้ไปกินเมืองเชียงเรือ เรียกว่า เชียงลานท้าวลก ผู้ถ้วนหก พระบิดาให้ไปครองเวียงพร้าว ในที่แดนชาวพร้าววังหินห้าร้อยนา ท้าวเจ็ด ให้ไปครองเมือง เชียงราย ท้าวสิบผู้น้องให้ไปครองเมืองฝาง เรียกว่า ท้าวซ้อย (มาจากคำพื้นเมืองว่าสุดซ้อย) ส่วนราชบุตรอีก ๕ พระองค์ ท้าวยี่ ท้าวสาม ท้าวใส ท้าวแปด ท้าวเก้า หมู่นี้ได้ไปตามกรรม (ตาย) ส่วนท้าวลกผู้ถ้วนหกนั้น เกิดปีฉลู ศักราช ๗๗๑ (ประมาณพ.ศ. ๑๙๗๒) เมื่อครองเวียงพร้าววังหิน อยู่ได้ไม่นานเท่าไรก็ได้กระทำความผิดพระราชบิดาทรงพิโรธ จึงเนรเทศไปไว้ ณ เมืองยวมใต้ (อ. แม่สะเรียงจ.แม่ฮ่องสอน ในปัจจุบัน) ต่อมามีพญาสามเด็กน้อย อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งก็คิดอ่านจะทำการกบฏต่อพระยาสามฝั่งแกนและได้เชิญท้าวลกมาเป็นหัวหน้า เจ้าท้าวลกซึ่งมีความน้อยพระทัยในพระราชบิดาอยู่แล้วจึงรับคำ และเมื่อ พระพญาสามเด็กน้อยซ่องสุ่มผู้คนพร้อมแล้ว จึงได้ให้คนสนิทมาเชิญเจ้าลก และได้ยกพลล้อมเมืองเชียงใหม่ในเวลากลางคืน ขณะนั้นพระเจ้าสามฝั่งแกน ทรงแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่เวียงเจ็ดลิน พญาสามเด็กน้อยจึงแต่งไพร่พลลอบไปจุดไฟเผาเวียงเจ็ดลินในเวลาเที่ยงคืน พระเจ้าสามฝั่งแกนตกพระทัยจึงทรงม้าพระที่นั่งกลับเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ พอไปถึงคุ้มหลวงก็ถูกไพร่พลของเจ้าลก ควบคุมตัวไว้ ครั้นรุ่งเช้าก็นิมนต์พระสงค์เจ้าเข้าไปในราชมนเทียรบังคับให้เจ้าสามฝั่งแกนเวนราชสมบัติให้แก่พระองค์ พระเจ้าสามฝั่งแกนก็ทรงเวนราชสมบัติ และหลั่งน้ำให้แก่เจ้าท้าวลกสมความปรารถนาครั้นทำพิธีแล้ว เจ้าท้าวลกก็ได้ส่งพระราชบิดาไปอยู่ ณ เมืองสาด (อยู่ในรัฐฉานของประเทศพม่าในปัจจุบัน)แล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขนานพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช และเรียกกันในสมัยต่อมาว่า "พระเจ้าติโลกราช"

                  ในรัชสมัยของ พระเจ้าติโลกราชนี้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองมากและการทหารก็เข้มแข็ง พระองค์ก็ยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ ดังนี้ คือ เมืองแพร่ เมืองนาย เมืองสุไลค่า เมืองงึดเมืองจาง เมืองกึง เมืองลอกจอก เมืองจำค่า เมืองกุน เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสีป๊อ ได้เลยครอบครัวเงี้ยวมา ๑๒,๓๒๘ คน ซึ่งได้แบ่งครัวไทยเงี้ยวนี้ไปอยู่ที่พระทะการเก้าช่อง และเวียงพร้าว เป็นการสะสมพลเมืองเพื่อไว้เป็นกำลังรบต่อไป ในสมัยของพระองค์ได้ส่งหมื่นมอกลองมาครองเวียงพร้าว ท่านหมื่นคนนี้มีความกล้าหาญมาก จนกระทั่งตัวเองตายในที่รบ และได้รับคำชมเชยจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา กาลต่อมาพระเจ้าติโลกราชได้ส่งราชบริวารที่ไว้วางใจได้ขึ้นมาครองเมืองพร้าวตามปรากฏนามดังนี้ หมื่นแพง เจ้ายอดเมืองซึ่งเป็นราชนัดดาหมื่นแก่งพร้าว หมื่นเงิน หมื่นเวียงพร้าว พันล่ามบุญ ทั้ง ๖ ท่านที่ได้กล่าวมานี้ได้ขึ้นมาปกครองเวียงพร้าว ล้วนแต่มีความใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อนอกจากนั้น แต่ละท่านยังมีความเก่งกล้าสามารถในด้านการรบเป็นอย่างยิ่ง ดังความ ในหนังสือความดีเมืองเหนือ ของคุณสงวน โชติสุขรัตน์ หน้า ๗๗ มีความว่า"กองทัพหลวงพระบางยกทัพมาตีเมืองน่าน จึงโปรดให้หมื่นเงิน เจ้าเมืองพร้าวเป็นแม่ทัพยกทัพไปช่วยเมืองน่าน และได้สู้รบกับกองทัพหลวงพระบางปรากฏว่ากองทัพหลวงพระบางแตกพ่ายไป" จะเห็นว่าเจ้าเวียงพร้าวมีความสามารถในการรบทุกท่าน ตามหนังสือพงศาวดารโยนกก็ได้กล่าวไว้โดยละเอียดว่า "พระเจ้าติโลกราชตอนจัดทัพใหญ่เพื่อสู้รบกับกองทัพแห่งกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระไตรโลกนาถไว้ดังนี้ พระองค์ได้จัดกองทัพไว้เป็น ๕ ทัพ คือ ทัพท้าวบุญเรือง ราชบุตรของพระองค์ เจ้าเมืองเชียงราย ทัพเจ้ายอดเมือง พระนัดดาของพระองค์ ซึ่งครองเมือง แจ้สัก (เวียงพร้าววังหิน) ทัพหมื่นกึ่งตีนเมือง ทัพหมื่นหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปางทัพพระยาสองแคว เจ้าเมืองพะเยา ทั้ง ๕ ทัพนี้ ได้สู้รบจนทัพหลวงของกรุงศรีอยุธยาล้มตายเป็นจำนวนมากและแตกพ่ายไปจะเห็นได้ว่าเจ้าเวียงพร้าวเป็นนักรบที่มีความสามารถในการรบยิ่งจนกระทั่งมาถึงสมัยของพระยอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่ ท่านได้ส่งเพลาสลงเชื้อสายจีนฮ่อ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ขึ้นมาครองเมืองพร้าวอันเป็นการผิดราชประเพณี ทำให้พระองค์เป็นที่รังเกียจของไพร่พลเมือง หมู่เสนาอำมาตย์จึงพร้อมกันโค่นราชบัลลังค์ ตามหลักฐานจากหนังสือชินกาลบาลีปกรณ์กรุงเทพ ฯ หน้า ๑๓๔ มีความว่า "พระองค์ทรงครองราชย์นาน ๘ ปี ก็ทรงมอบราชสมบัติให้ราชบุตรของพระองค์ในปีเถาะ" ครั้นต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นราชโอรสของพระยอดเชียงราย ผู้ประสูติกับอัครมเหสีศิริยสวดี ได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ส่งท้าวเชียงตงมาครองเวียงพร้าว ๖ ปี ไม่ทราบว่าได้ย้ายไปที่ อื่น ๆ หรือตายในที่รบก็ไม่ปรากฏหลักฐาน จนมาถึงสมัยของพระนางเจ้ามหาเทวีจีรประภาได้ครองเมืองเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีผู้ครองเวียงพร้าวอยู่แล้ว ชื่อ พระยาเวียงพร้าว และไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้ส่งมาท่านได้ครองเวียงพร้าวอยู่นานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๗๓-๒๑๐๑ เป็นเวลานาน ๒๙ ปี ก็ได้ พาครอบครัวและไพร่พลหลบหนีจากเวียงพร้าว ไปอยู่ที่นครเขลางค์ เนื่องด้วยมีกองทัพมหึมาของนักรบผู้เก่งกล้าผู้ลือนามจากหงสาวดีได้ยกเข้ามาเพื่อช่วงชิงอาณาจักรล้านนา จึงเป็นอันว่าเมืองที่ท่านพระญามังรายได้สร้างไว้ เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านและสะสมกำลังพลอันได้ชื่อว่า เวียงพร้าววังหิน หรือแต่เดิมเรียกว่าเวียงหวาย ได้สิ้นสภาพการเป็นเวียงณ บัดนั้นเป็นต้นมา ดังหลักฐานในศิลาจารึกของวัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัด เชียงใหม่ ความว่า     " ในปีเปิกสง้า ศักราช ๙๒๐ ปี มะเมีย สัมฤทธิ์ศก พ.ศ. ๒๑๐๑ เมืองเชียงใหม่เป็นขัณธสีมาของสมเด็จพระมหาธรรมมิกราชาธิราชเจ้าแล้ว ซึ่งเป็นกษัตริย์ของพม่า" และไม่มีหลักฐานใด ๆ กล่าวถึงเวียงพร้าวอีกเลย

ที่มา หนังสือเวียงพร้าววังหิน



 


เข้าชม : 2530


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      13 ม.ค. 67 ห้องสมุดประชาชนอำเภอพร้าว ร่วมกับบ้านหนังสือชุมชนบ้านหลวง และครู ศกร.ตำบลโหล่งขอด 🎊จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ 😊🎉 ณ บ้านหนังสือชุมชนบ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 15 / ม.ค. / 2567
      วันที่10 มกราคม 2567 ห้องสมุดประชาชนอำเภอพร้าว ร่วมกับ ครู ศกร.ตำบลสันทราย จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านภายใต้โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ณ ตลาดสดบ้านสันปง ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 12 / ม.ค. / 2567
      วันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11) 30 / ต.ค. / 2566
      รับสมัครนักศึกษา ภาคเรียนที่ 2/2566 25 / ต.ค. / 2566
      ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมลงนามเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ 16 / ต.ค. / 2566


 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่ 
ที่อยู่  ม.5 ต.ทุ่งหลวง  อ.พร้าว  จ.เชียงใหม่
โทรสาร  053-475530  E-mail phrao555@hotmail.com
บาคาร่า Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี