การทำนาด้วยวิธีการ “โยนกล้า”
เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตให้กับข้าว
หากจะมองย้อนกลับไปในอดีต หลาย ๆ คนคงจะหวนนึกถึงภาพความทรงจำเก่า ๆ ของการทำนาของประเทศไทย ที่มีชาวนาจำนวนมากช่วยกัน ลงแขก หรือ เอามื้อ ในการ“ดำนา” (ปักดำ) ปลูกข้าวกันอย่างแข็งขันในผืนนา ชาวนาไทยเชื่อกันว่าถ้าหากดำนาได้ดี ปักดำต้นกล้าลงในผืนนาที่พอเหมาะ และระยะห่างของต้นกล้าแต่ละต้นพอดี ต้นข้าวก็จะเจริญงอกงามดี ให้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์และมีคุณภาพดี
แต่ทว่าในปัจจุบันนี้ต้นทุนในการทำนาพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ การทำนาไม่ได้กำไรทุกปีและในบางปีที่ประสบปัญหาภัยทางธรรมชาติ ภัยแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่วมนาข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยว ทำให้ชาวนาขาดทุนย่อยยับ แนวทางในการทำนารูปแบบใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง “การหว่านตม” (การหว่านข้าวแทนการดำนา) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชาวนาได้เลือกและนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะวิธีนี้สามารถลดต้นทุนค่าจ้างในการดำนาได้ประมาณไร่ละ 1,100 บาท แต่หนทางนี้ก็ยังไม่ถือว่าดีเสียทีเดียวเพราะปัญหาตามมาจากการเลือกใช้วิธีนี้ เช่น ปัญหาเรื่องวัชพืช ต้องเพิ่มการดูแลต้นข้าวมากขึ้น และทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เปรียบได้กับสำนวนที่ว่าคือ ได้อย่างแต่ก็ต้องเสียอย่าง
การทำนาด้วยวิธีการ “โยนกล้า” เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการทำนารูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากชาวนาไทยมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน เกษตรกรทำนาของบ้านม่วงเขียว ตำบลร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทดลองการทำนาด้วยนำวิธีโยนกล้ามาปรับใช้กับการทำนาของตนเอง “ลุงบุญทรง ยุติธรรม” (ประธานศูนย์ฯ ) และเพื่อน ๆ สมาชิกอีกหลายคน ต่างบอกว่า การทำนาด้วยวิธีโยนกล้ามีข้อดีหลายอย่างที่การดำนาและการหว่านตมไม่มี ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วเนื่องจากไม่ถูกกระทบกระเทือนมากนักจึงสามารถแตกกอได้มาก ชาวนาสามารถควบคุมวัชพืชได้ และเมื่อเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตข้าวพอ ๆ กันกับการดำนา พวกเขาจึงได้เริ่มนิยมและลงมือทำกันอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็กำลังทดลองเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการดำนาและการโยนกล้า ในพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ฯ ประจำตำบลร้องวัวแดงแห่งนี้
การทำนาด้วยวิธีโยนกล้าจะมีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันกับการทำนาด้วยวิธีการดำนาและหว่านตมอย่างไร “ลุงบุญทรง ยุติธรรม” ได้อาสาพาทีมงานเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ จนทำให้เข้าใจและรู้ถึงขั้นตอนการทำนาด้วยวิธีโยนกล้า ดังนี้
ขั้นตอนการเพาะต้นกล้า
1. เตรียมแผงพลาสติกสำหรับเพาะต้นกล้า (โดยแผงพลาสติก 60 – 70 ถาด ต่อไร่)
2. เตรียมข้าวสำหรับเพาะกล้า (ซึ่งจะต้องนำไปแช่น้ำประมาณ 2 วัน 2 คืน หลังจากนั้นเทน้ำออกวางทิ้งไว้อีก 1 วัน 1 คืน เพื่อให้ข้าวงอกสมบูรณ์) ในอัตราส่วน 3 – 4 กก./60 - 70 ถาด/ไร่
3. ผสมดินสำหรับเพาะต้นกล้า โดยนำดิน แกลบ และปุ๋ยหมักชีวภาพ (เล็กน้อย) มาคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกัน
4. ใส่ดินที่ผสมลงในหลุมแผงพลาสติกประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม
5. หว่านเมล็ดข้าวงอกที่เตรียมไว้ลงในหลุม ประมาณหลุมละ 2 – 5 เมล็ด
6. นำดินที่ผสมไว้มาโรยปิดเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกครั้งหนึ่ง และควรระวังอย่าให้ดินล้นออกจากนอกหลุม เพราะ รากข้าวจะงอกออกมาพันกัน ทำให้เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว
7. หาวัสดุมาคลุมแผงพลาสติกที่เพาะต้นกล้า เพื่อที่เวลารดน้ำแล้วเมล็ดข้าวหรือดินจะได้ไม่กระเด็นออกมาอาจจะใช้กระสอบป่าน ผ้า ฯลฯ ที่มีอยู่และสามารถใช้ได้
8. ทำการรดน้ำทุกเช้าและเย็นติดต่อกัน ประมาณ 3 - 4 วัน ต้นข้าวจะงอกทะลุออกจากที่คลุมแผงพลาสติก ให้เอาวัสดุที่คลุมออก แล้วรดน้ำต่อไปจนต้นกล้าอายุได้ 15 วัน
9. นำต้นกล้าที่ทำการเพาะเสร็จสมบูรณ์แล้วไปโยนกล้าในผืนนาที่เตรียมไว้ให้สม่ำเสมอและกระจายทั่วผืนนา (การตกกล้า 1 คน สามารถตกได้ 2 ไร่ (140 ถาด) ต่อวัน)
การเตรียมดินในผืนนานั้นก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำนาทั่วไปไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก หากแต่เคล็ดลับของที่นี่ คือ การนำปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำเองหว่านให้กระจายทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนการโยนกล้า จากนั้นก็ทำการไถตามปกติ ปรับผิวดินให้เสมอกัน และทำทางระบายน้ำได้สะดวกไว้ ก่อนการโยนกล้านั้น ระดับน้ำในผืนนาจะต้องสูงประมาณ 1 ซม. ลุงบุญทรง บอกว่า “กะเอาง่ายๆ ประมาณท่วมหลังปูนา นั่นแหละ” หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน ต้นกล้าจะสามารถตั้งตัวได้ ให้เพิ่มระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับครึ่งหนึ่งของต้นกล้าหรือประมาณ 5 ซม. เพื่อการควบคุมวัชพืช และอีกประมาณ 15 วัน หลังจากนั้น หว่านปุ๋ยครั้งที่ 1 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และอีกประมาณ 30 – 40 วัน ให้หมั่นสังเกตดูว่าต้นข้าวใกล้ตั้งท้องหรือใกล้ออกรวงแล้วให้ปุ๋ยครั้งที่ 2 เพื่อช่วยให้ต้นข้าวมีความสมบูรณ์เต็มที่ก่อนออกรวงข้าว
อย่างไรก็ตามวิถีการทำนาด้วยวิธีโยนกล้ายังคงต้องมีการศึกษาเรียนรู้และทดลองกันต่อไป เพื่อพัฒนาและปรับปรุงให้สอดรับกับบริบทของพื้นที่และสอดคล้องกับศักยภาพของคนในชุมชนตำบลร้องวัวแดง คงมีคนสงสัยว่าภูมิปัญญาการทำนาแต่ก่อนนั้นไม่ดีหรืออย่างไรถึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งสภาพภูมิอากาศและภัยทางธรรมชาติ นวัตกรรมก็เกิดขึ้นมากมาย ชาวนาจึงต้องปรับตัวเองให้ประกอบอาชีพเพื่อให้อยู่บนโลกได้นี้อย่างเท่าทันและอย่างมีความสุข แต่การทำนาด้วยวิธีการโยนกล้าอาจจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำนาที่ประสบผลสำเร็จและนำไปสู่ความสุขได้อย่างแท้จริง “หรือไม่”
“ติดตามการทำนาด้วยวิธีการ “โยนกล้า” เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตให้กับข้าว และค้นหาคำตอบในตอนที่ 2 เมื่อสมาชิกศูนย์การเรียนรู้ฯ ประจำตำบลร้องวัวแดง จะแสดงผลการเปรียบเทียบการทำนาด้วยวิธีการดำนากับการโยนกล้า ประมาณเดือนธันวาคม 2554”
ที่มา ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนเชิงคุณธรรมประจำตำบลร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เข้าชม : 190029
|