โรคภูมิแพ้ เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยากับ “สารก่อภูมิแพ้” ซึ่งที่พบได้บ่อยได้แก่ ไรฝุ่น ละอองเกสรหญ้า หรือพวกขนสัตว์ต่างๆ ฯลฯ เมื่อสารก่อภูมิแพ้สัมผัสกับเยื่อบุของร่างกาย ร่างกายจะปล่อยสารสำคัญ เรียกว่า “ฮีสตามีน” ออกมา ทำให้เกิดอาการะคายเคือง
รศ.นพ.ต่อพงษ์ ทองงาม หัวหน้าสาขาโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน คลินิกภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า อาการหลักๆ ของคนที่เป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจ คือมีน้ำมูกใส จาม คันจมูก คัดจมูก บางรายอาจมีอาการของไซนัสอักเสบร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการทางตา เช่น คันตา ตาแดง รอบตามีสีคล้ำ บางรายอาจมีอาการหูอื้อ หรือหูชั้นกลางอักเสบ
“สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือ เราควรรู้ก่อนว่าเราแพ้อะไร วิธีการที่จะรู้ได้ คือทำการทดสอบภูมิแพ้ โดยแพทย์จะทำการหยดน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังบริเวณแขนหรือแผ่นหลัง แล้วใช้เข็มสะกิดที่ผิวหนังบริเวณนั้น การทดสอบนี้ไม่เจ็บและทราบผลภายใน 15 นาที”
เมื่อเรารู้แล้วว่าแพ้อะไรจะทำให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ดียิ่งขึ้น การรักษามีหลายวิธี ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เช่น ถ้าแพ้ขนสัตว์ก็ต้องไม่เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวไว้ในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน หรือถ้าตรวจพบว่าแพ้ไรฝุ่น ซึ่งผู้ป่วยภูมิแพ้ส่วนใหญ่แพ้กันมากถึงร้อยละ 70 ก็ควรหลีกเลี่ยงการปูพรมในห้องนอน เครื่องนอนทุกชิ้นควรซักด้วยน้ำร้อนทุก 2 สัปดาห์ หรืออาจใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนกันไรฝุ่น
2. รับประทานยาแก้แพ้ ใช้ในกรณีที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารที่ก่อภูมิแพ้แล้วยังมีอาการแพ้อีก การรับประทานยาแก้แพ้จำพวกยาต้านฮิสตามีนบางชนิด อาจทำให้มีผลข้างเคียงได้ เช่น อาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น
3. การใช้ยาพ่นจมูกที่สำหรับรักษาภูมิแพ้โดยเฉพาะ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ชนิดปานกลาง ถึงรุนแรง ยาชนิดนี้อาจเกิดทำให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งพบได้น้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการระคายเคืองของเยื่อบุจมูก และเลือดกำเดาไหล ซึ่งถ้าผู้ป่วยพ่นยาอย่างถูกวิธีจะเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวน้อยมาก
4. การใช้ยาสูด เพื่อรักษาโรคหืดภูมิแพ้ ยาสูดเพื่อรักษาโรคหืดภูมิแพ้แบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่
4.1. ยาสูดเพื่อการรักษาและควบคุมโรคหืด จะเป็นยาที่ผู้ป่วยต้องสูดต่อเนื่องทุกวันด้วยเทคนิคที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรจะใช้ยาเฉพาะตอนมีอาการ หลังสูดเสร็จควรบ้วนปากและกลั้วคอ เพื่อชะล้างยาที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก
4.2. ยาสูดเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยควรพกพาติดตัว และนำมาใช้เฉพาะเวลามีอาการ หรือใช้ก่อนออกกำลังกายประมาณ 30 นาที ไม่ควรใช้เป็นประจำ ในผู้ป่วยบางรายที่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดี จะพบว่าผู้ป่วยมีความต้องการที่จะใช้ยาชนิดนี้น้อยครั้งมาก
5. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารก่อภูมิแพ้ เพื่อให้ร่างกายสร้างและปรับเปลี่ยนภูมิต้านทาน และจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดยา โดยในระยะแรกจะฉีดทุกสัปดาห์ เป็นเวลาประมาณ 4-6 เดือน หลังจากนั้น ฉีดทุกเดือนเป็นเวลา 3 ปี ผลข้างเคียงของวัคซีนซึ่งพบน้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ผื่นลมพิษ คัดจมูกและน้ำมูกไหล หายใจลำบาก เป็นต้น อาการเหล่านี้มักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังการฉีด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ
เข้าชม : 992
|