ประวัตอำเภอแม่อาย
คำขวัญของอำเภอแม่อาย
เหนือสุดเวียงเชียงใหม่
ยิ่งใหญ่ดอยฟ้าห่มปก
แม่น้ำกกแหล่งชีวิต
ศักดิ์สิทธิ์พระธาตุสบฝาง
เมืองพระนางมะลิกา
เด่นสง่าวัดท่าตอน
ลือขจรผลไม้ไทย
มากมายหลายเผ่าชน
แม่อาย…เมืองพระนางมะลิกา
เจ้าแม่มะลิกา ทรงประสูติราว พ.ศ.๒๑๓๒(ปีมะโรง) พระนางทรงมีพระสิริโฉมงดงามดุจดัง
ดอกมะลิยามเช้า งดงามเหมือนพระราชมารดา มีความเฉลียวฉลาด กล้าหาญ ชอบทาง
รบทัพจับศึก แบบบุรุษเพศ เป็นที่ ลือชาปรากฏว่า เจ้าแม่มะลิกาชำนาญการธนูที่แกร่งกล้ายิงแม่นนัก
จนได้ขนานนาม “พระนางผู้ขมังธนู” เป็นที่ยำเกรงของศัตรูยิ่ง และได้ฝึกฝนสตรีผู้กำยำ
ให้เป็นทหารของเวียงมะลิกาปรับปรุงให้เสมือนเป็นเมืองหน้าด่าน ปกป้องศัตรูที่จะรุกราน
เมืองฝางได้ จึงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดายิ่งนัก แต่ว่าเจ้าแม่มะลิกา มีรอยตำหนิ
พระโอษฐ์ด้านขวาเบื้องบนแหว่งไปเล็กน้อย ซึ่งทรงเป็นมาแต่กำหนด พระเจ้าฝางอุดมสิน
ได้ขนานพระนามพระธิดาพระองค์นี้ ตามผิวพรรณอันขาวบริสุทธิ์ดุจดอกมะลิยามเช้าว่า
“พระนางมะลิกา”
ตำนานและคำบอกเล่า
“แม่อาย เมืองเจ้าแม่มะลิกา” คำนามซึ่งเป็นที่มาของชื่อ อำเภอแม่อายในปัจจุบันนั้น มีตำนานและคำบอกเล่าสืบต่อกันมาจากตำนานเวียงมะลิกา เนื่องจากพื้นที่เดิมของเวียงมะลิกาตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่อาย เวียงมะลิกาตั้งอยู่ ณ เส้นละติจูด ๒๐ องศา ๒ ลิปดา ๒๑ ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูด ๙๙ องศา ๑๘ ลิปดา ๑๔ ฟิลิปดาตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ที่ ๘ ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย มีทางแยกออกจากทางหลวงแผ่นดินสาย ฝาง - ท่าตอน ผ่านโรงพยาบาลแม่อายไปทางทิศเหนือ มีแนวคูเมืองและซากอิฐ กำแพงดินเป็นที่สังเกตได้ ราษฎรถือเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ร่องรอยของเวียงมะลิกาที่เห็นได้ในปัจจุบันคือ แนวกำแพงนูนสูง ๒ ชั้น มีคูเมืองอยู่ระหว่างกลางเป็นแนวล้อมรอบเมือง มีรูปร่างคดเคี้ยวไปตมลักษณะ ของเนินดิน อาณาเขตของเวียงมะลิกามีพื้นที่ประมาณ ๓๒๑ ไร่ ลักษณะพื้นที่ภายในส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ๒ ระดับ พื้นที่ระดับสูงประมาณ ๕๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ๗๐ เมตร จากที่ราบลุ่มแม่น้ำฝางพื้นที่ระดับต่ำสูงประมาณ ๔๘๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยมีแนวติดต่อ ดังนี้
....ทิศเหนือ จรดเชิงดอยลาง
....ทิศตะวันออก จรดห้วยสันป่าเหียว
....ทิศใต้ จรดที่ราบลุ่มแม่น้ำฝาง
....ทิศตะวันตก จรดลำน้ำห้วยศาลา
เวียงมะลิกา เป็นเมืองโบราณขนาดเล็ก ซึ่งสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๑๕๐ ตรงกับ จ.ศ.๙๑๙ ปีระกา เดือน ๔ เหนือ ถึง พ.ศ.๒๑๙๑ มีอายุเพียง ๔๑ ปี คือ ช่วงที่พระนางมะลิกาปกครองอยู่เท่านั้น ซึ่งตามตำนานเรื่องของพระนางมะลิกา เป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏว่ามีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เป็นเพียงเรื่องที่ได้มีการเล่าสืบต่อกันมาจากผู้อาวุโส และอาศัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุบ้าง สันนิฐานบ้าง และจากบรรดาที่พบเห็นอภินิหารของเจ้าแม่มะลิกา ที่บันดาลให้ปรากฏไว้กับใครต่อใครบ้าง ตลอดจนวิเคราะห์ จากประวัติของพระเจ้าฝางอุดมสินและพระนางสามผิวผู้เป็นพระราชบิดา – มารดาผู้ครองเมืองฝาง
พระนามของพระนางมะลิกา ตามความเห็นของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป มักจะเรียกว่า “เจ้าแม่มะลิกา” มากกว่าจะเรียก “พระนางมะลิกา” เจ้าแม่มะลิกาเป็นราชบุตรีในพระเจ้าฝางอุดมสินกับพระนางสามผิว พระนางสามผิว พระราชมารดาของพระนางมะลิกานี้ ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ดังมีคำกล่าวที่ว่า มีพระวรกายอวบท้วมเปล่งปลั่งเป็นน้ำเป็นนวล ดวงพระเนตรดำขลับดั่งนัยน์ตาเนื้อสมัน พระเกษายาวสลวยดำสนิทเหมืองขนกาน้ำ พระนาสิกได้สัดส่วนรับกับ พระโอษฐ์อันจิ้มลิ้มพริ้มเพรา พระโขนงโก่งดังคันธนูศิลป์ มีความงามเป็นเลิศ แห่งยุคเพียบพร้อมด้วยเบญจกัลยาณียากที่จะหาหญิงใดมาเทียบ นอกจากนั้น ยังมีปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้นกับพระนางอันเป็นที่ประจักษ์แก่คนเมืองฝางนั้นคือ วันหนึ่ง ๆ สีของพระวรกาย(ผิว) ของพระนางจะเปลี่ยนไปถึง ๓ สี คือ ตอนเช้าจะมีพระฉวีเป็นสีขาวนวลบริสุทธิ์ผุดผ่องดังน้ำนม พอตกเที่ยงจะแปรเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน ดุจดอกบัวจงกลณี พอเวลาเย็นจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีแดงระเรื่อดุจดอกกุหลาบ จึงเป็นที่มาของพระนาม “ พระนางสามผิว ”
ขนาดที่ตั้งและอาณาเขต
ที่ตั้ง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศเหนือตอนบนของประเทศไทย ติดพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า พื้นที่อำเภอแม่อาย เดิมอยู่ในความปกครองของอำเภอฝาง ประกอบด้วย ๗ ตำบล คือตำบลแม่สาว ตำบลแม่อาย ตำบลมะลิกา ตำบลท่าตอน ตำบลแม่นาวาง ตำบลสันต้นหมื้อ และตำบลบ้านหลวง กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเป็นกิ่งอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๐ และยกฐานะเป็นอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ ที่ว่าการอำเภอแม่อาย และศูนย์ราชการอำเภอแม่อาย อยู่ที่ในเขตเทศบาลตำบลแม่อายหมู่ที่ ๔ ตำบลแม่อาย บนถนนสายฝาง- ท่าตอน (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๘ กิโลเมตรที่ ๑๙) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ ๑๗๓ กิโลเมตร ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗) และตามถนนฝาง - ท่าตอน (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๘) ใช้ระยะเวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ ๓ ชั่วโมง และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ ๙๐๐ กิโลเมตร
พื้นที่อำเภอแม่อายตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ ๗๓๖.๗๐๑ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔๗๕,๗๒๕ ไร่ เป็นพื้นที่ภูเขาสูงต่ำเรียงราย มียอดสูงสุดที่ดอยผ้าห่มปก และราดไปสู่ที่ราบลุ่ม แม่น้ำฝาง แม่น้ำกก แม่น้ำ แม่อาย แม่น้ำแม่สาว
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐเชียงตุง ประเทศพม่า
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลเวียง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอแม่สรวย อำเภอเมืองเชียงราย
และอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับรัฐเชียงตุง ประเทศพม่า
แผนที่สังเขปแสดเขตการปกครองอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
จำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทย จำนวน ๗๑,๖๑๗ คน
* หมายเหตุ สำรวจเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓
อำเภอแม่อายมีประชากร ส่วนหนึ่งประมาณ ร้อยละ ๓๑ เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยแยกเป็น
๑. บุคคลพื้นที่สูง จำนวน ๖,๙๑๙ คน
๒. อดีตทหารจีนคณะชาติ จำนวน ๑๕๑ คน
๓. จีนฮ่ออิสระ จำนวน ๓๕๑ คน
๔. ผู้ผลัดถิ่นสัญชาติพม่า จำนวน ๖๘๑ คน
๕. ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า จำนวน ๑,๓๔๔ คน
๖. ไทยลื้อ จำนวน ๑๐๕ คน
๗. ชุมชนบนพื้นที่สูง จำนวน ๘,๘๘๔ คน
๘. แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา จำนวน ๘,๗๐๕ คน
รวม ๒๗,๑๔๐ คน
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับเตี้ยและเนินสูงสลับกับที่ราบ โดยเป็นภูเขาและเนินสูงจากด้านทิศตะวันตกราดต่ำลงสู่ที่ราบลุ่มในด้านทิศตะวันออก มีลำห้วยและแม่น้ำจากตะวันตกไปตะวันออก รวมบรรจบแม่น้ำฝางจากทิศใต้ไหลสู่ทิศเหนือ ซึ่งบรรจบกับแม่น้ำแม่กก ไหลไปทิศตะวันออกสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดเชียงราย
ลักษณะภูมิอากาศ สภาพอากาศโดยทั่วไปของอำเภอแม่อาย อากาศเย็นสบายมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๐ องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวจะหนาวจัดมีหมอกปกคลุมพื้นที่อุณหภูมิเคยต่ำสุดถึง ๒ องศาเซลเซียส (บนยอดดอย) ส่วนฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนอุณหภูมิประมาณ ๓๔ องศาเซลเซียส ฤดูฝนปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ มม. ต่อปี
แหล่งน้ำ อำเภอแม่อายมีลำน้ำและลำห้วยที่สำคัญในการประกอบพื้นที่การเกษตร รวม 10 สาย ได้แก่
ลำน้ำกก , ลำน้ำฝาง , ลำน้ำแม่อาย , ลำน้ำแม่สาว , ลำน้ำแม่แหลง , ลำน้ำห้วยป่าซาง , ลำน้ำห้วยฮ่องห้า , ลำน้ำห้วยม่วง , ลำน้ำห้วยเต๋อ , ลำน้ำห้วยขุ่น
การเกษตรในเขตชลประทานอยู่ในพื้นที่ตำบลแม่สาว ประมาณ 12,000 ไร่ และพื้นที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่แหลงหลวง ประมาณ 4,000 ไร่
การคมนาคม อำเภอแม่อายใช้การคมนาคมทางบก คือ เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๙๘ ถนนสายฝาง – ท่าตอน ซึ่งเป็นถนนลาดยางตลอดทั้งสาย และออกทางเลี่ยงเมืองฝางไปจังหวัดเชียงใหม่ มีระยะทางห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๑๗๓ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง จากอำเภอแม่อาย สามารถเดินทางไปยังตัวอำเภอแม่จันเพื่อเดินทางต่อไปยังอำเภอแม่สาย หรืออำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย เป็นถนนลาดยางตลอดสาย ระยะทางประมาณ ๖๕ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมงอีกเส้นทางเป็นการคมนาคมทางน้ำ คือ โดยสารเรือหรือแพจากท่าแม่น้ำกก บ้านท่าตอนไปตามลำน้ำกกไปยังอำเภอเมืองเชียงราย
สรุปโดยทั่วไปแล้วด้านการคมนาคมในพื้นที่อำเภอแม่อาย จะสะดวกเฉพาะถนนสายหลักเท่านั้นสำหรับในพื้นที่ชนบท เช่น ในตำบลบ้านหลวง ตำบลแม่นาวาง ตำบลแม่สาว ยังเป็นถนนลูกรัง และทางเกวียนใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น หากมีฝนตกลงมาราษฎรและส่วนราชการที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องใช้การเดินทางด้วยเท้า โดยจะใช้เวลาประมาณ ๔ – ๑๐ ชั่วโมง ในการเข้าไปถึงพื้นที่หมู่บ้าน ในส่วนของการก่อสร้างถนนโดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากแต่ละเส้นทางที่เชื่อมระหว่างตำบล – หมู่บ้าน มีระยะทางยาวต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และมีเส้นทางสำคัญในการใช้เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยว เช่น น้ำตกปู่หมื่น ดอยฟ้าห่มปก และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพื้นที่ตำบลแม่สาวเป็นถนนที่ทุรกันดารมีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคในการปฏิบัติงานจึงต้องมีการประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่อไป
การขนส่ง มีจุดขนส่งผู้โดยสารในพื้นที่ ๕ จุด คือ
๑. จุดขนส่งผู้โดยสารรถยนต์ประจำทาง (รถบัส) เส้นทางท่าตอน – ฝาง – เชียงใหม่ วันละ ๕ เที่ยว เริ่มเวลา ๐๖.๐๐ น. สุดท้าย ๑๕.๐๐ น. ค่าโดยสาร ๗๐ บาท
๒. จุดขนส่งผู้โดยสารรถยนต์ประจำทางปรับอากาศ (ขนส่ง ๙๙๙) เส้นทางท่าตอน – กรุงเทพ ฯ วันละ ๒ เที่ยว เดินทางเวลา ๑๖.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ น. ค่าโดยสาร ๔๘๐ บาท
๓. จุดขนส่งผู้โดยสารรถสี่ล้อประจำทาง (รถสองแถว) เส้นทางท่าตอน – ฝาง เดินทางชั่งโมงละ ๒ เที่ยว ค่าโดยสารขั้นต้น ๑๕ บาท และตามระยะทาง
๔. จุดขนส่งผู้โดยสารรถยนต์ประจำทาง (รถบัส) เส้นทางฝาง – ท่าตอน – แม่สาย วันละ ๒ เที่ยว ค่าโดยสาร ๑๐๓ บาท
๕. จุดขนส่งผู้โดยสารเรือ / แพ โดยสารตามลำน้ำกก เส้นทางท่าตอน – เชียงราย วันละ ๒ เที่ยว ค่าโดยสาร ๑๕๐ – ๑,๐๐๐ บาท
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครอง
แบ่งการปกครองออกเป็น ๗ ตำบล ๙๓ หมู่บ้าน ดังนี้
ตำบล |
จำนวนหมู่บ้าน
|
พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร)
|
ระยะทางจากอำเภอ (กม.)
|
แม่อาย
|
๑๓
|
๘๐
|
๑
|
มะลิกา
|
๑๐
|
๓๐
|
๒
|
ท่าตอน
|
๑๕
|
๑๑๐
|
๖
|
แม่สาว
|
๑๖
|
๑๖๐
|
๖
|
แม่นาวาง
|
๑๗
|
๑๖๐
|
๖
|
สันต้นหมื้อ
|
๑๒
|
๓๖
|
๑๐
|
บ้านหลวง
|
๑๐
|
๑๖๐
|
๑๔
|
รวม
|
๙๓
|
๗๓๖
|
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยเทศบาลตำบล ๑ แห่ง คือ เทศบาลตำบลแม่อาย ตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่อาย และตำบลมะลิกา มีเนื้อที่ประมาณ ๔๐ ตร.ก.ม.
องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน ๖ แห่ง ดังนี้
๑. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อาย
๒. องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน
๓. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาว
๔. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาวาง
๕. องค์การบริหารส่วนตำบลสันต้นหมื้อ
๖. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง
เครดิตข้อมูล : สำนักงานเกษตรอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
เข้าชม : 6469 |