เนื้อหา : สาระน่ารู้พัฒนาทักษะชีวิต
หมวดหมู่ : เครือข่ายจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
หัวข้อเรื่อง : ประวัติศาสตร์ชาติไทย

พฤหัสบดี ที่ 6 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2561


 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมักเริ่มนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา หากแต่ในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบัน พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี[1] ตลอดจนหลักฐานของอารยธรรมและรัฐโบราณเป็นจำนวนมาก

ภูมิภาคสุวรรณภูมิเคยถูกชาวมอญ เขมรและมาเลย์ปกครองมาก่อน ต่อมา คนไทยได้สถาปนาอาณาจักรของตนเอง เช่น อาณาจักรสุโขทัย ไล่เลี่ยกันกับอาณาจักรล้านนา อาณาจักรเชียงแสน และอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาค่อนข้างสั้นประมาณ 200 ปี ก็ถูกผนวกรวมกับอาณาจักรอยุธยา

อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางการค้าระดับนานาชาติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครอง ซึ่งบางส่วนใช้สืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา ทำให้อยุธยาเป็นสังคมศักดินา อยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2054 หลังโปรตุเกสยึดครองมะละกา หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีให้หลัง อาณาจักรอยุธยาเจริญถึงขีดสุดหลังจากนั้น ทั้งความสัมพันธ์กับต่างประเทศก็รุ่งเรืองมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมลง จนล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2310

พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ อาณาจักรธนบุรีมีพระมหากษัตริย์ปกครองพระองค์เดียว กินระยะเวลาเพียง 15 ปี แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 กรุงรัตนโกสินทร์ยังเผชิญกับภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งรัชกาลที่ 4

การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ชาติตะวันตกหลายชาติเข้ามาทำสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ ต่อมา แม้จะมีการยกดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษหลายครั้ง แต่สยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก กุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร อันทำให้สยามได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และนำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลาย

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น แต่ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา มีนโยบายต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และมีการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศเริ่มมีความมั่นคงยิ่งขึ้น

การแบ่งยุคสมัย

การจัดแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระทัศนะไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2457 ถึงการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ว่า"เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค 1"[2] ซึ่งการลำดับสมัยทางประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง (Linear) โดยวางโครงเรื่องผูกกับกำเนิดและการล่มสลายของรัฐ กล่าวคือใช้รัฐหรือราชธานีเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน มีข้อเสนอใหม่ ๆ เกี่ยวกับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เสนอถึงหัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยไว้ 8 หัวข้อ ดังนี้[3]

  • การตั้งถิ่นฐานของผู้คน นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น
  • การเข้ามาของอารยธรรมใหญ่ คืออินเดียและจีน
  • ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 13
  • ยุคสมัยของการค้า (คริสต์ศตวรรษที่ 15-17)
  • ก่อนสมัยใหม่
  • รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม
  • การปฏิวัติ 2475 และกำเนิดรัฐประชาชาติในทางทฤษฎี
  • การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516


เข้าชม : 1527


เครือข่ายจัดการศึกษาตามอัธยาศัย 5 อันดับล่าสุด

      สวัสดีปีใหม่ 2562 6 / ธ.ค. / 2561
      ประวัติศาสตร์ชาติไทย 6 / ธ.ค. / 2561
      วันรัฐธรรมนูญ 6 / ธ.ค. / 2561
      “5 ธ.ค. ของทุกปี” กำหนดให้เป็น “วันสำคัญของชาติ” 6 / ธ.ค. / 2561
      กศน.ตำบลเปียงหลวง 23 / มี.ค. / 2555