ผลกระทบจากปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน
- ปัญหาอาชญากรรม การลักขโมย ความไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน
- ความไม่ปลอดภัยต่อร่างกายและชีวิตของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน
- ปัญหาเงินทอง การหารายได้ การเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น กระทบต่อเศรษฐกิจในชุมชน
- ขาดความสงบสุข และปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน
ลักษณะหมู่บ้าน/ชุมชนที่เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด
ถ้าหมู่บ้าน/ชุมชนของท่านมีลักษณะดังต่อไปนี้ ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป แสดงว่าปัญหายาเสพติดอาจแทรกซึม เข้าไปแพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชนของท่านได้
1. ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน และคนในหมู่บ้าน/ชุมชนแตกแยก ขาดความสามัคคี
2. มีแหล่งอบายมุขในหมู่บ้าน/ชุมชน
3. ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่/แหล่งที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด
4. มีสถานที่ลับตาอันเป็นแหล่งมั่วสุม เช่น บ้าน/อาคารร้าง ป่าละเมาะ พื้นที่รกร้าง
5. มีคนแปลกหน้าเข้าออกในหมู่บ้าน
6. มีการลักเล็กขโมยน้อยอยู่เสมอ
7. มีคนในหมู่บ้าน/ชุมชนหน้าตาหมองคล้ำ ซูบผอม หรือมีอาการฉุนเฉียว เมาอาละวาด ฯลฯ
8. มีกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงานว่างงานจำนวนมาก โดยมักมั่วสุมกันอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน
9. มีครอบครัวที่ยากจนและมีลูกมาก พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ขาดการเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง
สาเหตุที่ยาเสพติดแพร่ระบาดเข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน
1.คน อ่อนแอ ขาดจิตสำนึก และความตระหนัก
1.1) เด็กและเยาวชน
- คึกคะนอง อยากรู้อยากลอง ต้องการให้เพื่อนฝูงยอมรับ
- ครอบครัวแตกแยก ขาดความรัก ความอบอุ่น ว้าเหว่ ขาดที่ยึดเหนี่ยว
1.2) ผู้ใหญ่
- มีปัญหาชีวิต เช่น ว่างงาน ยากจน มีหนี้สิน ฯลฯ
- จิตใจไม่เข้มแข็ง ท้อแท้ หมดหวัง ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว
- ผิดหวังในครอบครัว/สังคม
- เห็นแก่ตัว หารายได้ในทางที่ผิด
2.ตัวยา ฤทธิ์ในการมอมเมาของยาเสพติด ทำให้ผู้เสพหลงใหลในความสุข ความเคลิบเคลิ้ม จนไม่สามารถกลับมามีความสุขในชีวิตปกติได้ ต้องพึ่งพาใช้ยาเสพติดไปตลอด
3.สิ่งแวดล้อม
3.1) อบายมุขรอบตัว เช่น การพนัน แหล่งมั่วสุม ฯลฯ ขาดพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวก
3.2) ครอบครัวบกพร่อง ไม่มีเวลา ห่างเหิน ขาดการปลูกฝังขัดเกลาในสิ่งที่ดี
3.3) หมู่บ้าน/ชุมชนอ่อนแอ ขาดแบบอย่างที่ดี ขาดความสามัคคี ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจต่อกัน
ทำไมชุมชนต้องมีส่วนร่วมจัดการปัญหายาเสพติด
พลังชุมชนเป็นพลังสำคัญหยุดยั้งปัญหายาเสพติดได้
1. ปัญหายาเสพติดต้องดำเนินควบคู่กันทุกมาตรการทุกด้าน ทั้งการป้องกัน ปราบปราม บำบัด เฝ้าระวัง พัฒนาคุณภาพชีวิต
2. ปัญหายาเสพติดต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายแก้ไขปัญหา ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ โดยลำพัง
3. คนในหมู่บ้าน/ชุมชนเองรู้จักและเข้าใจปัญหาดีที่สุด จึงเป็นผู้แก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด มากกว่า คนภายนอกหมู่บ้าน/ชุมชน
4. ควรเริ่มต้นจัดการปัญหาด้วยหมู่บ้าน/ชุมชนเองเป็นหลัก มากกว่ารอคอยพึ่งพาคนอื่น/หน่วยงานภายนอกหมู่บ้าน/ชุมชน เชื่อมั่นในพลังของชุมชน
แนวทางหมู่บ้าน/ชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
1) เตรียมความพร้อมคนในหมู่บ้าน/ชุมชน 2 ระดับ
- ระดับชาวบ้าน ทำให้เกิดความตระหนักในโทษและพิษภัยของยาเสพติด มุ่งมั่นมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา โดยการประชุมประชาคม การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างเสริมความเข้าใจและปรับทัศนคติ ฯลฯ
- ระดับแกนนำ สรรหาผู้นำทั้งทางการและผู้นำธรรมชาติ พัฒนาศักยภาพโดยฝึกอบรม/ศึกษา ดูงาน ฯลฯ
2) ทำความเข้าใจกับปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน
2.1) สำรวจ คัดกรองเพื่อบ่งชี้ปัญหา ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ประชุมประชาคม เสวนา ฯลฯ
2.2) วิเคราะห์ข้อมูลจำแนกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะกับแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ค้า ผู้เสพ/ผู้ติด กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มปกติ
2.3) วิเคราะห์ศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อประเมินต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น
3) วางแผนงานของหมู่บ้าน/ชุมชน
3.1) วางแผนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดและแก้ไขปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องที่เป็นเหตุของปัญหายาเสพติด โดยต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และประยุกต์ใช้ต้นทุน ศักยภาพ และภูมิปัญญาที่มีในชุมชนเอง
3.2) ประสานแนวร่วม หาความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
4) ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมจากคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้
4.1) กำหนดกติกาชุมชน/มาตรการทางสังคมร่วมกัน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในข้อตกลง กติกา ระเบียบ และ/หรือธรรมนูญของชุมชน ตามแนวทางสันติวิธี
4.2) ดำเนินการป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนทำงาน และประชาชนทั่วไป
4.3) สอดส่อง ตรวจตรา เฝ้าระวัง เช่น สร้างเครือข่ายแกนนำดูแลเฝ้าระวังในชุมชน จัดอาสาสมัคร เดินเวรยาม แจ้งเบาะแสผู้ค้าแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
4.4) ดูแล แก้ไขผู้เสพ/ผู้ติด
- แก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติด ค้นหา ทำความเข้าใจ เชิญชวน คัดกรอง ช่วยเหลือ ส่งต่อ
- ติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฯ ในด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาพ อาชีพ การศึกษา และการเปิดโอกาสทางสังคม
4.5) จัดการสภาพแวดล้อม แก้ไขปัจจัยเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยง พัฒนาพื้นที่เชิงบวก/พื้นที่สร้างสรรค์
5) พัฒนาสู่ความยั่งยืน
5.1) พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน แก้ไขปัญหาพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
5.2) จัดการองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่าย ประเมินผล สรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมเชื่อมโยงเครือข่ายภายนอกชุมชน เพื่อเพิ่มพลังความเข้มแข็งในการทำงาน
5.3) พัฒนาแกนนำรุ่นต่อไป สร้างจิตอาสา พัฒนาศักยภาพให้กับผู้นำรุ่นสอง เพื่อให้มีแกนนำ สืบต่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
1. การป้องกันและแก้ไขตนเองจากยาเสพติด
- เยาวชนศึกษาหา ความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยของยาเสพติด
หากเยาวชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดประกอบกับความอยากลองหรือสาเหตุอื่นๆดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อาจทำให้เยาวชนหันไปลองใช้ หรือถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซึ่งเป็นก้าวแรกของการนำไปสู่การติดยาเสพติด การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นโทษพิษภัย สถานการณ์การแพร่ระบาด สาเหตุที่ชักนำไปสู่การเสพยาเสพติดจะช่วยให้เยาวชนรู้เท่าทัน และปลอดภัยจากยาเสพติดรวมทั้งการถูกหลอกให้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย
- มีความภูมิใจโดยนับถือตนเอง
ชีวิตของแต่ละคนย่อมมีค่าตราบเท่าที่ได้ใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดผลดี โดยการทำงานหรือการกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างตามความรู้ ความสามารถที่มีอยู่ ชีวิตคนเราจึงมีคุณค่าอย่างมาก ทั้งในแง่คุณค่าของตัวเราเองและคุณค่าที่มีต่อคนอื่น ต่อครอบครัว ต่อชุมชนและต่อสังคม เยาวชนจงภูมิใจและรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่าเมื่อชีวิตมีค่าก็ไม่ควรทำลายหรือบั่นทอนความสามารถของตนเองด้วยการกระทำที่เสื่อมเสีย เช่น การติดอบายมุข ยาเสพติด เพราะจะเป็นสาเหตุที่นำความเสื่อมเสียมาสู่ตนเองและส่วนรวม
- สำนึกในบทบาทหน้าที่ของตน
ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ย่อมมีบทบาทหน้าที่มากกว่าหนึ่งบทบาท และแตกต่างกันไปตามสถานภาพที่ได้รับ เช่น บทบาทลูก พี่น้อง นักเรียน นักศึกษา เพื่อสมาชิกในสังคม เยาวชนควรมีความสำนึกในคุณค่า ในบทบาทหน้าที่ของตนเองและประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของสังคม เช่น เยาวชน ในบทบาทลูกและนักเรียน ควรเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม เยาวชนในบทบาทสมาชิกในสังคม ควรประพฤติตนเป็นพลเมืองดีไม่ละเมิดกฎหมาย ช่วยสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม การสำนึกในบทบาทหน้าที่จะช่วยให้เยาวชนประสบความสำเร็จในชีวิต
- ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส
มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถเลือกดำเนินชีวิตได้ การเข้าใจในการดำเนินชีวิต ยอมรับความเป็นจริง พอใจในสิ่งที่ตนมี ตนเป็นอยู่และใช้ในสิ่งที่มีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี จะทำให้เยาวชนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ
- เลือกคบเพื่อนที่ดี
ในโลกแห่งความเป็นจริง เยาวชนต้องพบปะบุคคลมากมาย มีทั้งดีและไม่ดี การคบเพื่อนและบุคคลต่างๆ เยาวชนควรรู้จักเลือกคบเพื่อน และนำแต่สิ่งที่ดีของเพื่อนเหล่านั้นมาปรับใช้กับชีวิตของตนเอง ต้องรู้จักปฏิเสธ เช่น การพูดปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้ลองยาเสพติด เป็นต้น
- ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง อาจทำได้โดยการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ การทำงานพิเศษ ทำงานอดิเรก เช่น วาดภาพ เล่นดนตรี สะสมแสตมป์ เป็นต้น
การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ครอบครัว อาจทำได้โดยการทำงานบ้าน การทำสวนครัว การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น
การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่สังคม อาจทำได้โดยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาท้องถิ่น โรงเรียน วัดหรือสถานที่สาธารณะ หรืออาสาเป็นผู้นำเยาวชน เป็นต้น
- รู้จักแก้ไขปัญหาชีวิตไปในทางที่ถูก
ในการดำเนินชีวิตไม่มีใครที่จะไม่มีปัญหาอาจมีมากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไปเท่านั้นเอง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้หากเยาวชนกล้าเผชิญปัญหา และรู้จักแก้ไขปัญหาด้วยความคิด ไตร่ตรองด้วยเหตุผล แต่ถ้าเยาวชนหลีกหนีปัญหาด้วยการหันไปพึ่งยาเสพติดหรือทางเสื่อมอื่นๆ นั้นไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา กลับจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับตนเอง ครอบครัวและสังคม
- ปรึกษาผู้ใหญ่เมื่อมีปัญหา
ปัญหาชีวิตต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำเนินชีวิต เช่น ปัญหาการศึกษาเล่าเรียน ปัญหาการคบเพื่อน ปัญหาครอบครัว รวมทั้งปัญหายาเสพติด หากไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เยาวชนสามารถขอคำปรึกษา และความช่วยเหลือได้จากบุคคลใกล้ชิด ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว ครู อาจารย์ หรือแม้แต่แพทย์ ผู้นำในชุมชน พระ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ได้อีกด้วย
2. การป้องกันและแก้ไขครอบครัวของตนเอง จากปัญหายาเสพติด
2.1 สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว
- สามี ภรรยา ต้องมีความรัก ความเข้าใจต่อกัน ปรึกษาหารือกันเมื่อมีปัญหาในครอบครัว ไม่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบ โดยเฉพาะเรื่องลูกๆ และไม่ควรทะเลาะเบาะแว้งให้ลูกเห็น
- พ่อ แม่ ต้องให้เวลา ให้ความรัก ความอบอุ่น แก่ลูกๆ เป็นเพื่อนที่ดี เป็นที่ปรึกษาที่ดีแก่ลูกๆ เมื่อใดที่ลูกมีปัญหา ควรช่วยเหลือหาทางออกให้ อย่าใช้วิธีดุด่าว่ากล่าวซ้ำเติม จะทำให้ลูกเกิดความกดดันมากยิ่งขึ้น และไม่กล้าที่จะเล่าความจริงให้พ่อแม่ฟัง
- พี่ น้อง ต้องรักกัน ช่วยเหลือกัน มีปัญหาอะไรต้องปรึกษาหารือกัน ช่วยกันหาทางออกในทางที่ถูกต้อง ไม่มีความลับต่อกัน
2.2 รู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการเป็นสมาชิกของครอบครัว
- พ่อ แม่ มีหน้าที่ในการเลี้ยงลูก อบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี
- ลูกๆ มีน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จ ช่วยเหลือการงานภายในครอบครัวเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานบ้านหรือช่วยเลี้ยงน้อง เป็นต้น รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว เช่น เล่นกีฬา ดนตรี ทำสวนครัว ฯลฯ ช่วยสอดส่องดูแล ไม่ให้สามาชิกในครอบครัวกระทำให้สิ่งที่ผิด มั่วสุมยาเสพติด หรืออบายมุขอื่นๆ
3. การป้องกันและแก้ไขชุมชนของตนเองให้ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด
3.1 รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครป้องกันยาเสพติด
เพื่อร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น การรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่อต้านยาเสพติดโดยการลด ละ เลิกอบายมุข และยาเสพติดให้โทษทั้งหลายหรือร่วมกิจกรรมสาธารณสุขประโยชน์ต่างๆเช่นการสร้างสรรค์และการพัฒนาชุมชนให้มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าอยู่อาศัยและมีความปลอดภัย เป็นต้น
3.2 ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติด และติดตามสถานการณ์ข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่เสมอ
ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติดจากเอกสาร สื่อประเภทต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ นำมาเผยแพร่ในชุมชน หรือเข้ารับการฝึกอบรมที่หน่วยงานต่างๆ ได้จัดขึ้นให้เยาวชนในชุมชน ตลอดจนศึกษาและติดตามสถานการณ์ยาเสพติด ข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติดจากสื่อมวลชนประจำวัน เพื่อเป็นความรู้ที่จะนำไปคิดและดำเนินการป้องกันและแก้ไขให้ชุมชนปลอดภัยจากยาเสพติด หรือถ่ายทอดให้กับเพื่อนในชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ร่วมกันดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติดในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
3.3 เยาวชนควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชน
เยาวชนควรประพฤติตนเป็นต้นแบบที่ดีแก่เด็กและเยาวชนอื่นๆ ในชุมชนโดยไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข และไม่ใช้ยาเสพติดทุกชนิด และควรที่จะว่ากล่าวตักเตือนเด็กและเพื่อนเยาวชนที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมให้ปรับปรุงตนเอง นอกจากนั้นเยาวชนควรมีบทบาทในการชักจูงเพื่อนเยาวชนที่ยังหมกมุ่นในอบายมุขและยาเสพติดให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวการเป็นแบบอย่างที่ดี จะทำใหเยาวชนเป็นที่รักและนับถือ เป็นเยี่ยงอย่างของการประพฤติปฏิบัติตนให้แก่เด็กและเยาวชนอื่นในทางที่เหมาะสม และเติบโตเป็นผู้นำของชุมชนในอนาคต
3.4 ให้ความร่วมมือกับทางราชการ
- แจ้งข่าวสาร ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อทราบแหล่งผลิต แหล่งค้า และแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติดในชุมชน
- ร่วมเป็นอาสาสมัคร เวรยามตรวจตราแหล่งอบายมุขและแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด
- ชักชวนแนะนำให้เพือ่นเยาวชนหรือผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา โดยให้คำแนะนำและประสานงานนำส่งผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่สถานบำบัดรักษา ตลอดจนให้กำลังใจในการเข้ารับการบำบัดรักษาแก่ผู้ติดยาเสพติดด้วย
- เป็นอาสาสมัครติดตามผลการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเพื่อป้องกันการติดซ้ำ และเพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษามีกำลังใจ ไม่ถูกทอดทิ้ง
- เป็นอาสาสมัครเผยแพร่ความรู้เพื่อการป้องกันยาเสพติดให้แก่ชุมชน