[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : ข่าวเด่น
หัวข้อเรื่อง : วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ 5 มิถุนายน :ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด

เสาร์ ที่ 5 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2564


 

logo5june-farmer-day

ความเป็นมา
ตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 23 มิถุนายน 2552 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

1. การกำหนดให้มี “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เป็นการดำเนินตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2550-2554 ซึ่งได้มีการยกร่างโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนได้มีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหลายครั้ง และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ข้าวดังกล่าว

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เช่น นายกสมาคมชาวนาไทย นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทยแล้วเห็นว่าควรจัดให้มี “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เป็นการเฉพาะแยกจากวันเกษตรกร โดยมีเหตุผลดังนี้

2.1 ข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศและสังคมไทยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ข้าวยังมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทย รวมทั้งเป็นความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น นโยบายหรือมาตรการใดที่เกี่ยวกับข้าวย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นไปของสังคมไทยอย่างมาก
2.2 เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของข้าว รวมทั้งเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ ชาวนา นอกจากนี้ยังมุ่งหวังที่จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับยุวชนของเขา ซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดการปลูกข้าวในอนาคตด้วย
2.3 กิจกรรมที่จะจัดขึ้นในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ จะประกอบด้วยกิจกรรมทางด้านวิชาการและ กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วโลกได้รู้จักคุณภาพและคุณค่าทางวัฒนธรรม รวมทั้งความก้าวหน้าทางวิชาการของข้าวไทยมากยิ่งขึ้น
2.4 การกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน และทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทยและเป็นวาระสำคัญต่อกิจกรรมข้าวไทย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิตในการกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”
2.5 การที่กำหนดให้มีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติเป็นการเฉพาะ โดยแยกออกจากวันพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นเกษตรกรนั้น เนื่องจากวันพระราชพิธีพืชมงคลดังกล่าวมิได้เฉพาะเจาะจงแต่เฉพาะอาชีพการทำนาและชาวนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอาชีพการทำไร่ การทำสวนด้วย ประกอบกับการกำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลในแต่ละปีนั้น เป็นการกำหนดทางจันทรคติ ทำให้ไม่สามารถระบุเป็นวันแน่ชัดล่วงหน้าถาวรในปฏิทินได้ และไม่เหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองสำหรับชาวนาโดยทั่วไป รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีภารกิจในการเตรียมงานสำหรับพระราชพิธีดังกล่าวด้วย

ที่มา : http://www.doyouknow.in.th/คุณรู้หรือไม่-5-มิถุนายน-เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ/
ภาพชาวนาถอนต้นกล้า ที่มา : http://www.doyouknow.in.th/คุณรู้หรือไม่-5-มิถุนายน-เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ/

สถานการณ์ปัจจุบันชาวนาไทย ปี พ.ศ. 2556-2557
ไชยรัตน์ ส้มฉุน รายงานข่าวในเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์( http://www.thairath.co.th/) เรื่อง “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ถามง่ายๆ..ทำไมถึงยากจน” สรุปได้ว่า อาชีพปลูกข้าวอยู่คู่ชนชาติไทยมานานนับพันปี ปัจจุบันปัญหาของชาวนาไทยอยู่ตรงไหน? ความจริงในสังคม อาชีพชาวนามักจะถูกผู้อื่นดูถูกดูแคลน มองต้อยต่ำ คนไม่มีการศึกษาเท่านั้นถึงไปทำนา รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษา “มหาวิทยาลัยชาวนา” ได้ให้คำตอบกับสังคมถึงปัญหาของชาวนา ดังนี้

1. สาเหตุที่ทำให้อาชีพชาวนาถูกดูแคลน เพราะปลูกข้าวแล้วราคาตก ขายขาดทุน เป็นชาวนาแล้วยากจนไม่มีเงิน ขาดความน่านับถือ
2. สาเหตุทำให้ข้าวราคาตกต่ำ ชาวนายากจน เพราะคนไทยบริโภคข้าวกันทั้งประเทศ ปีละแค่ 6-7 ล้านตัน แต่เราปลูกข้าวถึง 30 ล้านตัน ที่เหลือจะส่งออกไปขายในต่างประเทศ ก็แพ้เวียดนาม ลาว พม่า เพราะเขาต้นทุนต่ำกว่า ยิ่งรับจำนำให้ราคาสูงๆ ชาวนาก็ยิ่งแห่ไปปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น
3. การสนับสนุนให้ชาวนามีเงิน ชาวนาต้องกำหนดราคาขายข้าวเอง ไม่ใช่มาให้ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด เพราะชาวนาย่อมรู้ดีว่าต้นทุนของตนเองใช้ไปเท่าไหร่ และจะขายเท่าไหร่ ถึงจะมีกำไร รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นแค่ผู้จัดการกำหนดรายได้ให้กับชาวนา ไม่ใช่ไปส่งเสริมให้ปลูกข้าวมากเกินไป พร้อมทั้งควรให้ชาวนาปลูกพืชอื่นๆ ทดแทนข้าว อย่างถั่วเหลือง เพราะเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาก
4. กลไกของรัฐต้องบอกชาวนาให้ได้ว่าพืชชนิดไหนปลูกได้ ชนิดนี้ปลูกไม่ได้ เพราะจะล้นตลาด รัฐบาลและทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยเหลือแบบมองยาวไกลมีวิสัยทัศน์ ร่วมกันพัฒนาข้าวเกรดพรีเมียม อย่างข้าวออแกนิกส์ ข้าวอินทรีย์ ข้าวฮาลาล ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสินเหล็ก ฯลฯ เพื่อยกระดับราคาขาย และมีตลาดโลกรอรับ
5. เพื่อยกระดับอาชีพทำนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว และภาคเอกชนจึงได้มีหลักสูตร “มหาวิทยาลัยชาวนา” เพื่อสร้างองค์ความรู้แก่ชาวนาพัฒนาไปสู่การเป็นชาวนามืออาชีพ เพราะคนทำนาทุกวันนี้ยังไม่ใช่มืออาชีพ ปลูกข้าวตามๆ กันไป ไม่มีคุณภาพ ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ใช้สารเคมียาฆ่าแมลงแบบตามใจตัวเอง หรือทำตามที่เขาแนะนำมาอีกที สิ่งที่เราต้องการ คือ ให้ชาวนาลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเฉพาะหลังการทำนาต้องปลูกพืชเสริมรายได้ ปลูกพืชสวนครัวบนคันดิน เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เสริมรายได้ให้ชาวนา น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นครอบครัวละ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน

ที่มา :  http://www..banmuang.co.th/2014/05/ข้าวและชาวนาไทย/
ภาพชาวนาเกี่ยวข้าว ที่มา : http://www.banmuang.co.th/2014/05/ข้าวและชาวนาไทย/

กิจกรรมในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประกอบด้วย
กิจกรรมทางด้านวิชาการและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วโลกได้รู้จักคุณภาพและคุณค่าทางวัฒนธรรมรวมทั้งความก้าวหน้าทางวิชาการของข้าวไทยมากยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้กรมการข้าวจัดงาน“วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ “พระอัจฉริยภาพกว้างไกล ข้าวไทยก้าวหน้า ชาวนาไทยมั่งคั่ง” โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 4-6 มิถุนายน 2553  และจัดต่อเนื่องกันมาทุกปี

ปัจจุบัน ปี 2557  กรมการข้าวจะจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน 2557 ที่บริเวณกรมการข้าว เกษตรกลางบางเขน ภายใต้แนวคิดหลัก “ข้าวและชาวนาไทย หัวใจแห่งแผ่นดิน” เพื่อร่วมแสดงจิตสำนึกที่ดีที่มีต่อข้าวไทย และเชิดชูเกียรติของชาวนาไทย รวมถึงเรียนรู้ถึงความสำคัญของข้าวและชาวนาไทย อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวนาไทย ผู้เปรียบได้กับหัวใจของแผ่นดินในครั้งนี้

บรรณานุกรม

คนเกษตร. (2557). “ข้าวและชาวนาไทย” หัวใจแห่งแผ่นดิน. ค้นมื่อ 28 พฤษภาคม 2557, จาก http://www.banmuang.co.th/2014/05/ข้าวและชาวนาไทย/

ไชยรัตน์ ส้มฉุน. (2556). “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ถามง่ายๆ..ทำไมถึงยากจน”. ค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2557,   จาก http://www.thairath.co.th/content/349042

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี. (2552). สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 23 มิถุนายน 2552. ค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2557, จาก  http:/www.eppo.go.th/admin/cab/cab-2552-06-23.html

สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง. “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”. ค้นมื่อ 28 พฤษภาคม 2557. จาก http://smg.brrd.in.th/web/index.php/2009-12-16-07-33-34/43-2010-06-04-03-04-50

ภาพประกอบ

ภาพชาวนาถอนต้นกล้า. ค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2557, จาก http://www.doyouknow.in.th/คุณรู้หรือไม่-5-มิถุนายน-เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ/

ภาพชาวนาเกี่ยวข้าว. ค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2557, จาก http://www.banmuang.co.th/2014/05/ข้าวและชาวนาไทย/

Logo วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ. ค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2557,จาก http://smg.brrd.in.th/web/index.php/2009-12-16-07-33-34/43-2010-06-04-03-04-50

ที่มา:สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง



เข้าชม : 2848


ข่าวเด่น 5 อันดับล่าสุด

      กระชาย : ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 15 / มี.ค. / 2566
      ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ 18 / ก.ค. / 2564
      วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 ก.ค. : ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 1 / ก.ค. / 2564
      12 มิถุนายน วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล :ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 12 / มิ.ย. / 2564
      วันอานันทมหิดล ๙ มิถุนายน : ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด 9 / มิ.ย. / 2564




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ ที่นี่ เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ 
ที่อยู่ 66 หมู่ 9 ตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50240
โทรสาร 053-461350 E-mail
libhot4@gmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี