ที่มา: หนังสือบันทึกอานันทมหิดล ยุวกษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย และหนังสือเอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ
วันนี้ ๙ มิถุนายน เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต อย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ต่อไป
โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
โดยที่ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
โดยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ที่ร่วมพระราชชนนี ตามความในมาตรา ๙ (๘) แห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
โดยที่รัฐสภาได้ลงมติ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ แสดงความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ในการที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙
จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี
แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า
“...ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน...” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “...ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้...” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก ๒๐ ปีต่อมา
วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “...เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม...”
ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี
ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ที่มา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์, วงวรรณคดี (สิงหาคม ๒๔๙๐).
"ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป"
จากเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เมื่อ ๗๕ ปีล่วงมาแล้วเราได้เสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักพระองค์หนึ่งไป
และเราได้พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และเป็นที่รักยิ่งอีกพระองค์หนึ่งมาแทน
บัดนี้ทั้งสองพระองค์ได้สถิตอยู่ร่วมกันแล้ว
น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ที่มา: โบรานนานมา