ถ้าพูดถึงเรื่อง “ปลา” ซึ่งเป็นโปรตีนชั้นดีและย่อยง่าย ปลาจึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศ
ทุกวัย และประเทศไทยก็มีปลาให้เราเลือกกินเยอะแยะมากมาย
.
ยุง (ป้ายุง คุณผกา เส็งพานิช) มักเจอคำถามเสมอๆ ว่า มีวิธีเลือกซื้อปลาอย่างไรถึงจะได้ปลาสดจริงๆ ไม่ใช่สดตามคำบอกเล่าของพ่อค้าแม่ขาย ตัวเองเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วซื้อปลาไม่สด กลับมาถึงบ้านเลยถูกแม่ดุ แม่สอนวิธีเลือกปลาให้ยุงจำขึ้นใจ วันนี้เลยนำมาเล่าต่อให้คุณผู้อ่านฟัง
.
วิธีเลือกปลาแบบง่ายๆ นะคะ ดูที่ตาก่อน ตาจะใสปิ๊ง ลูกตาออกนูนๆ หน่อย สองแก้มปิดสนิท แต่
อย่าเพิ่งวางใจ แอบเปิดแก้มดูเหงือกสักนิด ถ้าเหงือกสีแดงเป็นอันว่าใช้ได้ แต่ถ้าเหงือกออกสีคล้ำๆ เหมือน
คนสูบบุหรี่จัด ไม่ควรให้ผ่านการคัดเลือกค่ะ
.
เมื่อแตะผิวของเขาต้องมีลักษณะเป็นเมื่อกลื่นๆ มือ แต่ถ้าเป็นปลาชนิดมีเกล็ด เกล็ดก็ต้องเรียงติดกันแน่นไม่หลุดเป็นแห่งๆ ลองกดนิ้วลงบนตัวปลา ถ้าเนื้อเด้งกลับก็ใช้ได้ แต่ถ้ากดแล้วเนื้อบุ๋มเป็นรอยนิ้วของเราประทับอยู่ แถมมีกลิ่นตุ่ยๆ โชยมา วางลงแล้วเลือกตัวอื่นได้เลยค่ะ
.
วิธีดูว่าปลาชนิดไหนมีไขมัน (ดี) สูงหรือต่ำ ให้สังเกตที่สีของเนื้อปลาเป็นหลัก ส่วนมากปลาเนื้อสีขาวจะมีไขมันน้อยหน่อย เช่น ปลาสำลี ปลากราย ปลากะพง ปลาจะละเม็ด เป็นต้น
.
ส่วนปลาที่มีไขมัน (ดี) สูง เป็นพวกที่มีเนื้อสีออกเหลือง ส้ม เทา หรือชมพู เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาแซลมอน ปลานกแก้ว เป็นต้น
.
แถมวิธีเลือกปลาทูนึ่งอีกสักอย่างเถอะ เพราะยุงชอบกินน้ำพริกปลาทู ใช้ใครซื้อก็ไม่ค่อยได้ดั่ง (จาย) ต้องซื้อเองค่ะถ้าเลือกได้ ยุงจะซื้อปลาทูแม่กลอง หน้างอ คอหัก หางเหลือง ถึงจะเป็นปลาทูนึ่งก็ต้องดูว่านึ่งมาตั้งแต่ปีก่อนหรือเปล่า (ประชดค่ะ)
.
เทคนิคง่ายๆ ก่อนอื่นต้องเลือกเข่งที่ซ้อนอยู่กลางๆ เพราะถ้าเป็นเข่งบนจะถูกฝุ่นผงที่ปลิวปนเปื้อน ส่วนเข่งล่างก็ไม่ค่อยแน่ใจว่ากระบะที่วางจะสะอาดแค่ไหน ดังนั้นเลือกเข่งกลางๆ ปลอยภัยที่สุด
.
แตะตัวปลาว่าเป็นเมือกลื่นๆ หรือเปล่า ถ้าเป็นก็ใช้ไม่ได้ แตกต่างกับเลือกปลาสดนะคะ เพราะปลาทูนึ่งที่ผิวเป็นเมือกลื่นๆ แปลว่าใกล้ถึงเวลาฝังแล้วค่ะ แตะเนื้อปลาแล้วจะต้องไม่แข็งกระด้าง
.
อีกนิดเถอะค่ะ ถ้าซื้อมาหลายเข่ง (แอบมือหนักไปหน่อย) เวลาจะเก็บก็ให้ทอดพอเหลืองสักหน่อย รอให้ปลาทูทอดหายร้อนแล้วเก็บใส่ตู้เย็นเก็บไว้ได้หลายวัน นานกว่าปลาทูนึ่งที่ยังไม่ทอดค่ะ จะกินเมื่อไรก็นำมาทอดซ้ำอีกทีก็ยังอร่อยอยู่
.
ย้อนกลับไปที่วิธีเก็บปลาสด เมื่อซื้อปลามาถึงบ้าน ต้องควักไส้ขอดเกล็ดออกให้เรียบร้อย ล้างน้ำจนหมดเมือกลื่นๆ
.
อีกเคล็ดลับคือเรื่องการล้างปลาให้เหลือกลิ่นคาวน้อยที่สุด มีหลายวิธีค่ะ อาจล้างด้วยน้ำเกลือ (ใช้เกลือ 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำประมาณ 1 ลิตร) แล้วล้างด้วยน้ำเปล่าอีกที
.
จะฝานมะนาวเป็นชิ้นนำมาถูที่เนื้อปลา แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกทีหรือใช้น้ำมะขามเปียก (น้ำผสมมะขามเปียกนิดหน่อย) ล้างปลา แล้วล้างน้ำสะอาดก็ใช้ได้
.
ส่วนยุงใช้วิธีแช่เนื้อปลาในนมสดทิ้งไว้สักพัก นำขึ้นมาล้างด้วยน้ำสะอาด เป็นอันเสร็จกรรมวิธีการล้างปลาให้หมดกลิ่นคาว
.
แต่ถ้ากลัวว่ากลิ่นคาวปลาจะไม่ยอมแพ้ ยังจะโชยกลิ่นเวลาโดนจับไปพักผ่อนในตู้เย็น (ไม่แนะนำให้ใส่ในช่องแช่แข็ง) ใช้วิธีนี้เลยค่ะ โรยผงกาแฟบางๆ ให้ทั่วชิ้นปลา เจ้ากลิ่นคาวก็จะไม่ไปรบกวนบรรดาผองเพื่อนในตู้เย็นอีก เวลาจะใช้ก็ล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งเท่านั้นเอง
.
วิธีการเก็บปลาให้ยืดความสดต่อไปอีกหน่อย ทำโดยหั่นปลาเป็นชิ้นแบ่งปริมาณเท่าที่เราจะใช้แต่ละครั้ง ใส่กล่องปิดฝาให้สนิท หรือใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นแล้วใส่ช่องแช่แข็ง เวลาจะใช้ก็เอาออกมาพักให้คลายความเย็น จะได้ไม่ต้องเอาออกมาทั้งตัว
.
เฮ้อ! นี่แค่วิธีจัดการเจ้าปลาอย่างเดียวนะเนี่ย อ่านจบรีบไปทดลองวิชานี้ที่ตลาดเสีย จะได้พิสูจน์ว่า ที่ยุงบอกน่ะ ใช้ได้หรือเปล่า
.
ข้อมูลจาก คอลัมน์ท้ายครัวป้ายุง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 360
#ชีวจิต #อาหารชีวจิต #อาหารสุขภาพ #dietandsupplement #ปลา
ที่มา:นิตยสารชีวจิต
เข้าชม : 793
|